ความพยายามในการสร้าง SuperCar คันแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2007

รถยนต์ supercar คันแรกที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทย magnate P708

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยมาหลายทศวรรษ ตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตพาร์ทเล็กๆจนกลายเป็นวาระแห่งชาติที่จะใช้ ยานยนต์ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรายังคงเป็นเพียงผู้ผลิตให้กับแบรนด์ต่างประเทศมากมายจนถึงปัจจุบัน และยังไม่สามารถให้กำเนิดรถยนต์แบรนด์สัญชาติไทยได้ซักที แต่ด้วย trend การเปลี่ยนแปลงจาก ICE ไปสู่ EV มีทีมคนไทยมากมายเริ่มที่จะพูดถึง แบรนด์รถยนต์สัญชาติไทยกันอีกครั้ง และเราอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงกันในไม่ช้า

ในวันนี้ Class A Solution จะขอย้อนเวลากลับไปดูความพยายามของทีมคนไทยที่ออกแบบและสร้าง รถ Supercar คันแรกในประเทศไทย คือเจ้า Magnate P708 ที่ถูก Rebrand มาจาก Bizzarrini P538 สำหรับใครที่เคยไปเดิน Thailand International Motor Expo ในช่วงปี 2009-2013 อาจจะได้เห็นเจ้ารถคันนี้ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย ปัจจุบันรถถูกผลิตมาเป็นเพียง Prototype และถูกนำขึ้นประมูล เป็นรถสะสมใน web ประมูล RM Sotheby’s ที่ราคา 300k-500k ยูโร สามารถไปเยี่ยมชม หรือลองประมูล กลับมาในไทยกันได้ครับ

ที่มา : https://rmsothebys.com/.../r0036-2005-magnate-p708.../600120

ส่วนประกอบรถยนต์ supercar magnate P708

เรียนรู้จาก Italian Supercar Industry

หากพูดถึง Supercar แล้วคงหนีไม่พ้นวงการออกแบบรถยนต์ใน Italy ที่มีแบรนด์ชื่อดังมากมาย เช่น Lambogini, Ferrari, Maserati หรือ studio ออกแบบอย่าง Pininfarina ให้ได้เรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง โดยมากรถ Supercar จะเป็นงาน Handmade และผลิตในจำนวนที่จำกัด ความซับซ้อนในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึง Assembly line อย่างรถ production car ปกติที่วิ่งกันตามท้องถนนจึงลดลงอย่างมหาศาล เทคโนโลยีการออกแบบก็สามารถเรียนรู้ตามทันได้ และที่สำคัญที่สุดขายใน “ราคาที่สูง” ได้อย่างไม่ต้องเกรงใจตลาดกันเลยทีเดียว ด้วยความลงตัวแบบนี้ในช่วงปี 2006-2007 บริษัท Cobra International ผู้เชี่ยวชาญด้าน Composite material ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เลยลงมาลองลุยดูซักตั้ง โดยการนำทีมของ Mr. Kevin Gallahan ที่เริ่มสร้างทีม ค้นหาผู้เชี่ยวชาญ และผลักดันให้โปรเจครถ Supercar คันนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย แบบเรียกได้ว่าจาก zero เลย

บริษัทออกแบบโครงสร้าง :
http://www.galmerinc.com/galmer_g12_prototype_pictures.htm
ผู้ผลิตชิ้นงาน :
https://www.cobrainter.com/

รถ supercar รุ่น bizzarrini P538

กลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวที่ได้ทั้ง Technology และได้ทั้ง Brand

ในการทำรถตระกูล ICE หรือ เครื่องสันดาปภายใน (ใช้น้ำมัน) นอกจากเครื่องยนต์แล้วก็หนีไม่พ้น “เกียร์บ๊อกซ์” ที่เป็นหัวใจของรถยนต์ โครงการ Supercar นี้เริ่มต้นจาก การออกแบบโครงสร้างจากทีม Galmer ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม F1 ในอเมริกา โดยได้ออกแบบ Monocoque chassis ที่ทำงานกับเครื่องยนต์ 8 สูบ 7000cc จาก GM โดยให้ตำแหน่งเครื่องอยู่หน้าล้อหลัง (เครื่องวางกลาง) ตามแบบฉบับ Supercar ที่ทำกันทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงขณะขับขี่

จากนั้นทีมของ Cobra ก็ได้เริ่มติดต่อกับ Mr.Giotto Bizzarrini อดีต engineer ของ Alfa Romeo, Ferrari และ Lamborghini ที่แยกตัวออกมาเปิดแบรนด์ Bizzarrini ของตัวเองในช่วง 70’s เพื่อขอเทคโนโลยี gear box ของเค้ามาใช้กับโครงการนี้ ผลที่ได้คือ คุณ Bizzarrini ในวัย 85 ก็กลับมามีไฟอีกครั้งและได้ส่ง Gear box มาให้ทีมใช้ พร้อมกับความคิดที่จะชุบชีวิต Model P538 ของ Bizzarrini ให้กลับมาโลดแล่นบนท้องถนนอีกครั้ง บน เทคโนโลยี Chasis ตัวใหม่จากทีม Galmer

เมื่ออุปกรณ์สำคัญๆครบแล้ว จากนั้นทีม R and D ก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาในรั้วของ Cobra ที่ อมตะนคร ประเทศไทย

ที่มา :
https://www.barrett-jackson.com/.../1965-BIZZARRINI-P538...
https://simeonemuseum.org/collection/1967-bizzarrinni-p538/
https://en.wikipedia.org/wiki/Giotto_Bizzarrini

กลุ่มคนไทยที่ออกแบบรถ supercar

สรุปแล้วคนไทยทำอะไร?

มาถึงจุดนี้แล้วในช่วง quarter สุดท้าย ปี 2007
- Chassis design จาก USA มีแล้ว
- เครื่อง 8 สูบจาก GM พร้อมแล้ว
- gear box จาก Italy ก็พร้อม
- marketing direction ที่จะเอา P538 รถ supercar italian style กลับมาใหม่ ให้เหมือน mini หรือ Beetle ที่ถูกชุบชีวิต ในช่วงเวลานั้นเหมือนกัน

ขาดอย่างเดียวคือ Design ทั้งภายนอกและภายใน

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น mr. Kevin ผู้ดูแลโปรเจคได้ติดต่อไปยังภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ #คณะมัณฑนศิลป์ #มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีการเรียนการสอนออกแบบรถยนต์มามากกว่า 10 ปี โดย อ.อภิชาติ ภูมิศุข ให้ส่งทีมนักศึกษาออกแบบเข้ามาช่วยดูแลในเรื่อง ของ Exterior และ Interior Styling โดยมี อ.อภิชาติ เป็นผู้กำหนด Design direction
การคัดเลือกนักศึกษาจึงเกิดขึ้น โดยนักศึกษาทั้งหมดในวิชาออกแบบยานพาหนะ ได้ทำ Project ออกแบบรถยนต์ของตนเองขึ้นมา มีการ sketch ปั้น clay แล้วให้ mr. Kevin จาก Cobra เข้ามาดูผลงาน จนได้นักศึกษาที่ถูกเลือกทั้ง 3 คน ให้เข้าไปทำงานออกแบบ ใน R and D shop ที่ อมตะนคร เป็นเวลา 5 เดือน โดยโจทย์หลักๆในเวลานั้นคือ

ออกแบบรถทั้งภายนอกและภายใน ที่สามารถใช้งานกับ โครงสร้าง Monocoque chassis, เครื่องและ gearbox ที่ได้หามาไว้แล้วทั้งหมด โดยใช้เทคนิค Composite technique ที่ Cobra เชี่ยวชาญ

ความท้าทายหลักๆเลยคือ ข้อจำกัดของ part ต่างๆที่ต้องถูกผลิตโดย Composite material เช่น carbon fiber, Kevlar ชิ้นส่วน Detail หลายชิ้นก็ต้องไปซื้อ off the shelf มาแทนที่จะได้ออกแบบใหม่ให้เหมาะกับ design direction ที่ต้องการ เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่า โรงงาน composite อย่างเดียวคงไม่พร้อมที่จะลงทุนแม่พิมพ์ สำหรับวัสดุประเภทอื่นแน่นอน ซึ่งปัญหานี้ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ๆของอุตสาหกรรมไทย ที่เน้นเชี่ยวชาญเฉพาะวัสดุ ทำให้การพัฒนาหรือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เน้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่เน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ “พอจะ” แย่งพื้นที่ตลาดได้โดยใช้ทรัพยากรที่โรงงานนั้นๆมี

นิตยสารฟอร์มูล่าฉบับที่ 389 เดือนมิถุนายน 2551

ทีมนักศึกษาออกแบบใน studio ของ Cobra

นักศึกษาทั้ง 3 คนที่ถูกเลือกได้ตัดสินใจ พักการศึกษาในช่วงปี 4 เทอมสอง เดือนตุลาคม ปี 2008 หรือ เทอมที่ต้องทำ thesis เพื่อไปเอาประสบการณ์ที่อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิต กับ Cobra แทนการได้ใบรับใบปริญญาตามกำหนดการเหมือนเพื่อนๆทุกคน โดยมี อ.อภิชาติ เป็นผู้ดูแล ทั้ง design direction และ project management เราจะใช้เวลาเพียงแค่ 5 เดือนท่านั้น แล้วทุกอย่าง “ต้องเสร็จ” (ในส่วนของงานออกแบบ) เพื่อให้นักศึกษาได้กลับมาเรียนต่อให้จบ ไม่ขาดช่วง

สิ่งที่ทีมออกแบบตัดสินใจในเวลานั้นเลยคือการทำ clay model 1:5 บน โครงสร้าง monocoque chassis ที่ย่อส่วนมา 1:5 เช่นกัน ณ เวลานั้นงานในส่วน engineer มี CAD data ครบแล้วจากทีม Galmer ดังนั้นการทำ Chassis ย่อส่วนจึงเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับทีม Cobra ทีมออกแบบจึงตัดสินใจที่จะปั้น Clay model โดยอิงจาก engineer data ที่มี

Design process จึงเป็นการออกแบบไป ปั้นไปเมื่อปั้นเสร็จแล้วตัว clay model ก็จะถูกนำไป 3D scan นำ 3D scan data มาใช้อ้างอิงในการเขียน CAD Surface data ขยาย scale CAD surface data มาที่ size 1:1 ขนาดรถจริงเอา CAD surface data ไปเทียบกับ chassis ที่มีอยู่แล้วอีกครั้ง
นำ CAD surface data ไป CNC โฟมเหลือง high density foam เพื่อใช้เป็น master ในการทำแม่พิมพ์ Carbon fiber
นำเอาแม่พิมพ์ไปขึ้นชินงานเพื่อประกอบลงบนรถจริง

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่ขึ้น CAD model ไปเลย เพราะว่าการออกแบบรถจะใส่ใจในคุณภาพของพื้นผิวของรถ (Surface) มาก การออกแบบรถจะมีการเช็ค แสงเงาที่จะตกกระทบบนตัวรถในมุมต่างๆ ตลอดเวลา ความงามของรถจึงไม่ได้อยู่ที่เส้น graphic ต่างๆบนตัวรถเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก แสงเงาตกกระทบบนผิวของรถด้วยเช่นกัน การที่มี model ที่จับต้องได้ ปรับผิวได้แบบทันทีจึง efficiancy มากกว่า ณ เวลานั้น

หากเทียบกับปัจจุบัน ในวงการออกแบบรถ ก็จะมีการขึ้น CAD model ทันที แต่เพื่อให้ได้คุณภาพ บริษัท รถหลายๆที่ก็จะ เอา CAD model ที่ขึ้นไว้แล้วมาทำ Clay model เพื่อ เช็คผิวก่อนผลิตจริงอีกเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกระบวนการไหนก็ขึ้นอยู่กับ เวลาและ ความต้องการของ ทีม ณ เวลานั้นอีกเช่นกัน

ดูผลงานนักศึกษาได้จาก :
https://www.facebook.com/SUAutomotiveDesign

การขึ้นโมเดลรถ 1:1

ความพร้อมของ Cobra กับ R and D

หลังจากทีมได้ Design ที่ถูกเลือกแล้ว Clay model ถูกนำไป 3D scan แล้วเอา file 3D scan ไปเขียน CAD surface data ขึ้นมาใหม่ เพื่อนำเอาไป CNC ให้เป็นรถขนาด 1:1 โดย Engineer team ของ Cobra หากใครคิดภาพว่า Cobra เป็นเพียงโรงงาน Surfboard ก็ขอให้เปลี่ยนใจครับ ศักยภาพของ Cobra ในการทำ R and D ถือว่าระดับโลกเลยทีเดียว โครงการมหัศจรรย์ภายในของ Cobra ยังมีอีกมากมายที่ให้ได้ surprice กันแน่นอนถ้าได้มีโอกาสได้ไปดูกันจริงๆ

ดูข้อมูลของบริษัทเพิ่มเติมได้ที่ :
https://www.cobrainter.com/production-technology

การขึ้นโมเดลรถด้วยการปั้น

1 model 2 designs 3 นักออกแบบ

ในโลกการออกแบบ ทีมออกแบบมักจะใช้จำนวนเพื่อลดความเสี่ยง เราไม่สามารถออกแบบเพียงแบบเดียวมานำเสนอทีม แล้วเชื่อมั่นว่าแบบนี้จะประสบความสำเร็จ โอกาสจะสำเร็จนั้นน้อยมาก เราจำเป็นต้อง Design direction หลายแนวทาง หรือสร้างสมมุติฐานให้เพียงพอ เพื่อให้ทีมได้คิดวิเคราะห์ หาทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุดได้ ถ้าในปัจจุบันก็จะเน้นเอา design ลงไปเก็บ feedback กับ User ให้เร็วที่สุดเพื่อนำเอา Feedback มาช่วยตัดสินใจ และโดยธรรมชาติ มนุษย์ถ้าไม่ได้เลือก ก็มักจะไม่เลือกอีกเช่นกัน

ทีมออกแบบจึงตัดสินใจแบ่งรถเป็น 2 ฝั่งแล้วเอากระจกเงา ขั้นตรงกลาง นักศึกษาออกแบบ จึงได้พัฒนา 2 design directions บนรถคันเดียวไปพร้อมๆกัน เมื่อเสร็จงาน เราก็จะได้รถให้ทุกคนตัดสินใจได้ถึงสอง designs แทนที่จะเป็นคันเดียว ก่อนจะนำไป 3D scan

วิธีแบ่งงานของทีมคือ มีคนปั้น Clay 2 คน ดูแล Design คนละฝั่ง โดยพยายามอิงเอาข้อมูลจาก CAD data ของ Chassis จาก Galmer ตลอดเวลาในการปั้น ส่วนอีกหนึ่งคนที่เหลือจะคอยหา Refference และ Sketch detail ต่างๆของรถ เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบให้คนปั้นนำไปใช้กับแบบที่ตัวเองดูแล ทุกๆสัปดาห์ทีมออกแบบก็จะคอยอัพเดทความคืบหน้าให้กับทุกคนเพื่อรับ feedback ไปพัฒนางานต่อ

แนวทางการออกแบบ P538

Design Language

การออกแบบจะเน้นการนำเสนอทิศทาง Styling หลักๆ อยู่ 3 เรื่องคือ
1. ความเป็น sexy car แบบ italian design
2. การดึงเอาเอกลักษณ์ของ เจ้า P538 กลับมาใช้ ซึ่งชัดเจนมากคือ รูจมูก ด้านหน้ารถที่ไม่ค่อยจะเห็นในรถคันอื่น
3. Speedform หรือ รูปทรงที่ดูแล้วสัมผัสได้ถึงความเร็ว จริงๆอันนี้เป็นเหมือน Foundation ของการออกแบบ Supercar อยู่แล้ว

จากส่วนผสมทั้งสามข้อนี้ การออกแบบเลยต้องพยายามหาจังหวะที่ลงตัว ให้ได้ระหว่างการใช้ surface ที่เน้นมวลหรือ mass ในบริเวณของซุ้มล้อ ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง กับเส้นสันที่ช่วยนำสายตา หากมีเส้นสันคมเกิดขึ้นเยอะเกินไป รถจะขาดความ Sexy แต่หากไม่มีเลย รถก็จะเริ่มขาดทิศทางของเส้นในการชวนให้คนมองรถไปรอบๆคัน ก็ได้แต่มองเป็นวัตถุก้อนหนึ่งแล้วหายไป

Design ที่ถูกเลือกในเวลานั้นจึงใช้เส้น Character line คมๆ สองเส้น
1. เส้น speed line ที่วิ่งจาก side vent หรือช่องลมหลังล้อหน้าของรถ พุ่งเข้าไปหาก้อน mass เหนือซุ้มล้อหลังแล้ว อ้อมผ่าน หลังรถ เพื่อไปบรรจบกับ side vent ที่อยู่หลังล้อหน้าอีกด้าน เส้นนี้เป็นเส้นที่ยาวที่สุดบนตัวรถ คือวิ่งเกือบรอบคัน เพื่อทำให้รถดูพุ่งไปด้านหน้ามากขึ้น และเส้นนี้ยังทำหน้าที่เหมือนการล้อมขุมพลังขับเคลื่อน ของเครื่องยนต์และ gearbox ที่วางอยู่ระหว่าง ล้อหลังอีกด้วย เพื่อเน้นถึงปริมาตรของท้ายรถให้มากขึ้น
2. บริเวณหน้ารถจะมีเส้นสันที่วิ่งจาก side vent วิ่งมาซุ้มล้อหน้าและไปจบที่ side vent อีกด้านเช่นกัน แต่จะเน้นให้เป็นเส้นรอง ซึ่งโชว์ความพริ้ว เป็น curve ที่อ้อมซุ้มล้อหน้า โค้งเข้าหาบริเวณกันชนหน้าแล้วอ้อมเข้าสู่ซุ้มล้อหน้าอีกฝั่งเพื่อไปจบเหนื่อ side vent อีกด้านเช่นกัน

สรุปสั้นๆใช้เส้นสันคม เพียงสองเส้น ที่ช่วยนำสายตาให้คนดูยังคงวนเวียนอยู่กับรถ และ การเติม detail ของรูรับลม เหนือกันชนหน้าที่เป็น design language ของ Bizzarrini ให้สัมพันธ์กับ เส้นสัน Character ของรถ ก็ช่วยให้ Supercar ช่วง 70s ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง

การออกแบบภายในรถ

2 เดือนครึ่งกับ Exterior design งานฝั่ง Interior ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

ในช่วง 2 เดือนครึ่งที่ทีมออกแบบได้จบงานในส่วนของ Exterior Design พร้อมๆกับงานในฝั่งของ production ที่ได้ Carbon Fiber Monocoque Chassis ทั้งชิ้นขึ้นมา ด้วยเช่นกัน ในการผลิต Chassis ตัวนี้มีการขึ้นแม่พิมพ์ไว้ก่อนแล้ว ทำให้ทีม production ใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกันเสก Monocoque Chassis ที่ทำจาก fiberglass ให้ทีมดีไซน์มาออกแบบ interior ต่อได้เลยทันที ทีมออกแบบตัดสินใจใช้เวลา 2 เดือนครึ่งที่เหลือ ปั้น Clay model ในส่วนของ interior design ขนาดจริง

เหตุผลหลักๆในการทำ Interior ขนาดจริงคงหนีไม่พ้นเรื่องของ Ergonomic หรือ สรีระวิทยา เราไม่สามารถออกแบบ interior บนกระดาษ หรือ Scale model ได้เลย การจินตนาการ ถึงระยะการเอื้อมมือไป control ปุ่มต่างๆบน Instrument panel, มุมองศาของ หน้าปัด ที่เหมาะกับคนนั่ง หรือ ระยะมือจับที่อยู่บนประตู เป็นสิ่งที่ต้องใช้ Model ขนาดจริงเข้ามาช่วยทั้งหมด งาน interior จะแตกต่างกับ exterior พอสมควร เพราะใช้ skill และหลักคิดคนละแบบกัน การที่ต้องคิด ให้ Form follow function ก็เริ่มมีมากขึ้นกับงาน Interior Design

ทีมออกแบบนำ chassis ที่ทำจาก fiberglass มาเติมโครงสร้างส่วนต่างๆ ก่อนที่จะพอกดิน Clay ลงไป การนั่งของ Supercar แน่นอนว่าไม่สบายเหมือนรถทั่วไป จุด Hip point (สะโพก) อยู่ต่ำตามโครงสร้างของรถยนต์ เพื่อให้รถแบนราบกับพื้นให้มากที่สุด ตำแหน่งเข่า และขา ที่เกือบจะอยู่แนวเดียวกับสะโพก ท่านั่งค่อนข้างจะเป็นกึ่งนั่งกึ่งนอน

ปั้น, sketch, CAD

งานออกแบบ interior จะเริ่มจาก Sketch มาเป็นแนวทาง แล้วค่อยไปปั้นเพื่อดู form กับการใช้งานว่าสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน งานจะเป็นลักษณะ sketch ไป ปั้นไป ถ้าปั้นออกมาแล้วไม่ได้ก็ค่อยเปลี่ยนวนกลับมาเริ่ม Sketch ใหม่ วนๆไปจนได้แนวทางที่เหมาะสม แต่ปัญหาหลักๆของการปั้นคือ เราไม่สามารถ ออกแบบ เรื่องของวัสดุ และโทนสีของ interior ได้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ หรือที่เรียกกันว่า CMF (Color, Material, Finish) ทีมออกแบบจึงตัดสินใจขึ้น CAD จากงานปั้น เพื่อมาทำ 3d rendering ให้เห็นภาพถึงงานสุดท้ายเมื่อเสร็จแล้วจะออกมาในรูปแบบใด

การออกแบบเน้น Dashboard ที่สามารถนำไปเปิดแม่พิมพ์แล้วใช้ได้ทั้งขับพวงมาลัยซ้ายและขวา ซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุนในส่วนของแม่พิมพ์ เส้นโค้งที่นำมาใช้พยายามดึงเอา เอกลัษณ์ sexy car จาก exterior มาใช้ในการออกแบบ ชิ้นส่วนต่างๆ เช่น Monitor, air, ที่เปิดประตู จะเป็น Off-the shelf หรือซื้อมา ไม่ได้ออกแบบเอง แต่ทีมออกแบบจะหาวิธีทำให้ชิ้นส่วนต่างๆดูเข้ากันมากที่สุด

ขั้นตอนการจบงาน

Color Material and Finishing

ในระหว่างปั้น Clay ทีมออกแบบได้ขึ้น CAD บน Chassis file ที่ได้มาจาก Galmer และ ทำให้ Design เหมือนกับ Clay model ที่ปั้น เพื่อนำมาลองใส่สี ใส่วัสดุ ให้เหมือนจริง โดยการเน้นความดิบในแบบ supercar การใช้ aluminum panel เชื่อมจากซ้ายสุดของ dashboard ไปถึงขวาสุดแล้วเชื่อมไปถึงที่จับประตู โดยเน้นสัมผัสของผู้ขับขี่ที่ได้จับวัสดุจริงๆ ไม่ใช้จับถูกสี การบุหนังบน trim ประตู เน้น Black on black และใช้ความต่างของ พื้นผิว กับ finishing มาช่วยสร้างรายละเอียด

งาน motor expo และ motor show ปี 2008-2009

ส่งมอบงานออกแบบในปี 2008 สู่การจัดแสดงใน motor expo and motor show ปี 2008-2009

หลังจากงานของทีมออกแบบสิ้นสุดนิตยสาร ฟอร์มูล่า ฉบับที่ 389 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 เข้ามาทำข่าว ทีม design ส่งงานทั้ง exterior และ interior เพื่อให้ Cobra ไปทำ production ต่อ และทีมนักศึกษาก็กลับไปเรียนต่อ

เจ้าตัวรถในช่วงนั้นได้ไปออกงาน motor expo 2008 ในนาม Bizzarrini P538 แต่ยังคงเป็นแค่ Chassis ที่ทำเสร็จครบทุกส่วนแล้ว และเป็นรถจริงเปิดตัวในงาน Motor show ในปีถัดๆมาแต่ถูก rebrand ให้เป็นชื่อ Magnate P708 รูปทรง Exterior Design ที่ยังได้เอกลักษณ์ของ Bizzarrini P538 แบบเดิมที่ทีมดีไซน์ทำไว้ แต่ interior มีการเปลี่ยนจาก ต้นแบบพอสมควร รถถูกนำไปวิ่งทดสอบได้จริงและพร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาด

ที่มา : https://positioningmag.com/50318

รถ supercar รุ่น magnate P708

การเดินทางของโปรเจคลงเอยที่รถสะสม

หลังจากโครงการดำเนินไปต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ด้วยการลงทุนที่มหาศาลกับรถคันนี้ มูลค่า R and D เกินกว่า 100 ล้านบาท รถได้ถูกนำขึ้นประมูลที่ ราคา 300k-500k ยูโร ให้นักสะสมได้มาประมูลกัน ในปี 2018 การเดินทางของรถคันนี้ ถือว่ามาไกลมาก และเอาจริงๆ ประเทศไทยเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะออกแบบและสร้างรถ ขึ้นมาได้ เราต้องขอชื่นชมในการลงทุนของ Cobra และทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกคน ที่ทำให้เราเห็นความหวังในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย การสร้างแบรนด์รถยนต์ในยุค ICE มี Development cost ที่สูงมาก มากจนเกินกว่าบริษัทเอกชน หรือ บุคคลเพียงไม่กี่คนจะสามารถลงทุนได้ หากไม่ใช่วาระแห่งชาติที่ถูกผลักดันและวางแผนอย่างเป็นระบบ แบรนด์รถไทยคงจะเป็นเพียงความฝัน แต่ด้วยเทคโนโลยี EV ที่กำลังเบ่งบานในปัจจุบัน อีกไม่นานเราคงได้เห็นแบรนด์ไทย ออกมาแน่นอน

ภาพสเกตรถยนต์รุ่น magnate P708

ทีมงาน Class A Solution จึงทำโปรเจคต่อยอดให้เจ้า P538 ตัวนี้เป็น Concept เชิญรับชมได้ใน link นี้

https://www.class-a-solution.com/bizzarrini

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง :

https://www.facebook.com/classasolution/posts/137896925249034

Previous
Previous

หลักการออกแบบที่ดี 10 ประการของ Dieter Rams

Next
Next

Futurecraft.Loop รองเท้าที่สามารถนำมาหลอมเป็นรองเท้าคู่ใหม่เพื่อลดปัญหาขยะรองเท้าในอนาคต