Futurecraft.Loop รองเท้าที่สามารถนำมาหลอมเป็นรองเท้าคู่ใหม่เพื่อลดปัญหาขยะรองเท้าในอนาคต

adidas futurecraft loop

Adidas Futurecraft Loop รองเท้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาขยะรองเท้าล้นโลก ความหวังของมนุษยชาติมันจะเป็นไปได้จริงมั้ยนะ

หลังจากที่ Adidas ได้เริ่มโครงการ Futurecraft เพื่อวิจัยพัฒนา(R&D)รองเท้าที่จะไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม Adidas ได้ออก Concept Shoe มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเอาขยะมาใช้ ย้ายการผลิตทั้งหมดมาไว้ภายใต้โรงงานแห่งเดียว หรือแม้กระทั่ง 3D print รองเท้าขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่แนวทางที่พอจะเอามาปรับใช้กับการทำรองเท้าผ้าใบมาขายเท่าใด จนในปี 2019 Futurecraft Loop Gen1 ก็ได้เปิดตัว แล้วดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ โดยการผลิตรองเท้าจากวัสดุชนิดเดียวคือ TPU ส่งให้คนเอาไปใช้ แล้วส่งกลับมาให้ adidas ทำการ recycle แล้วส่งกลับไปให้ใช้ใหม่ โครงการนี้ได้ทดลองในกลุ่มทดลอง 200 คน เป็นคนในวงการต่างๆ ทดลองใช้รองเท้า Futurecraft Loop Gen1 ตัวนี้จริงๆแล้วส่งกลับมาให้ adidas เก็บข้อมูลก่อนที่จะเอาไปบด แล้วนำวัสดุตัวเดิมกลับมาสร้าง รองเท้าใหม่เป็น Futurecraft Loop Gen 2 ในปี 2020 ซึ่งตอนนี้ก็ล่วงเลยมาอีกหนึ่งปีไปแล้ว ยังไม่ได้เห็นข่าวคราว ของ Gen 3 ทีมงาน Class A Solution ก็เฝ้ารอกันอย่างมีความหวังว่ามันจะโผล่ออกมาก่อนหมดปีหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราขอพื้นที่ตรงนี้เล่าถึงปัญหาของขยะรองเท้าผ้าใบล้นโลก และ ความหวังในการออกแบบเพื่อความยั่งยืน หรือ Design for Sustainability จากยักษ์ใหญ่ในวงการรองเท้าอย่าง Adidas กับ โครงการ Futurecraft Loop

อุตสาหกรรมรองเท้า รองเท้าผ้าใบ

รองเท้ากลายเป็น Consumable Goods หรือสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป แต่ปัญหาคือใช้มันไม่หมดมันแค่เสื่อมแล้วต้องโยนทิ้ง

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบผลิตรองเท้ามากกว่า 1.5 หมื่นล้านคู่ต่อปี และเจ้าตัวเลขนี้ก็ขยับขึ้น 2.4% ทุกๆปีด้วย เนื่องจากธรรมชาติของรองเท้าที่ใช้แล้วค่อยๆเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน จึงทำให้มนุษย์ทุกคนกลายร่างเป็นนักบริโภครองเท้า คือ ซื้อ แล้วใช้ แล้วก็ทิ้ง แล้วก็ต้องซื้อใหม่วนๆไปเรื่อยๆ แทบจะไม่มีวันจบ จนทำให้รองเท้าจัดอยู่ในหมวดหมู่ consumable goods หรือกลุ่มสินค้าใช้แล้วหมดไป หากเรา consume หรือบริโภครองเท้าจริงๆคงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือเราไม่ได้บริโภคมันด้วยการกิน เราใช้แล้วพอมันเสื่อม “เราก็ทิ้ง” แบบไร้เยื่อใยเพราะใส่ไม่ได้อีกแล้ว ฟังดูถึงตรงนี้อาจจะเหมือนเป็นเรื่องปกติเราใช้ชีวิตกันแบบนี้มานาน แต่ด้วยพฤติกรรมนี้จึงกลายเป็นปัญหาระดับโลกเลย เพราะการ recycle รองเท้าในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ รองเท้าที่ถูกใช้แล้วยังคงวนเวียนอยู่ในโลกเรา เนื่องจากความซับซ้อนของรองเท้าที่นับวันยิ่งซับซ้อนตามการแข่งขัน วัสดุสารพัดรูปแบบนานาชนิดถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของรองเท้าอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่ผ้าประเภทต่างๆ ยาง หนังสัตว์ กาวยาง หรือแม้กระทั่งพลาสติก และเมื่อวัสดุเหล่านี้ถูกนำมารวมร่างด้วยสารพัดเทคนิค นักออกแบบ นักพัฒนาคิดวิธีรวมร่างมันสารพัดวิธี แต่ปัญหาคือพวกเค้าไม่ได้คิดวิธีแยกร่างวัสดุพวกนี้เลย โลกเราจึงต้องหาที่เพื่อรองรับรองเท้าที่กำลังจะถูกใช้ 1.5 หมื่นล้านคู่ ที่จะแปลงร่างกลายเป็นขยะในปีถัดๆไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบที่ตามมาคือ จำนวนกองขยะไว้ถมที่ ถมทะเลจำนวนมหาศาล และส่วนผสมจำพวกพลาสติกที่ซ่อนอยู่ในส่วนต่างๆของรองเท้าก็ต้องใช้เวลา 100-1000 ปี เพื่อย่อยสลายอีกด้วย

รีไซเคิลรองเท้า

จริงๆแล้วการ recycle รองเท้าก็ยังพอมีอยู่บ้างโดยเน้นการออกแบบให้ถอดประกอบได้ง่าย เพื่อนำไปรีไซเคิล แต่การแปรรูปในแต่ละครั้งต้องใช้ความเร็วสูงและใช้แรงงานให้น้อยที่สุด (เพื่อให้ประหยัดที่สุด) รองเท้าจึงถูกโยนเข้าเครื่อง บดทำลายทั้งชิ้นโดยใช้วิธีการแยกวัสดุจากความหนาแน่นของวัสดุ หลังจากการแยกวัสดุจนเหลือเป็นชิ้นส่วนเล็กๆแล้ววัสดุต่างๆ ก็ถูกนำมาผลิตสินค้าที่มีคุณค่าลดลง เช่น แผ่นรองพรม หรือวัสดุฉนวนต่างๆ แทนการกลับไปเป็นรองเท้าเหมือนเดิมที่มีความต้องการและจำเป็นมากกว่า เหตุเพราะว่ารองเท้าที่ทำจากขยะมักมีอายุไม่ทน ทำให้ยากต่อการใช้งาน และราคาไม่เอื้อต่อมนุษย์ปกติๆอย่างพวกเรา ที่จะซื้อของแพงแต่คุณภาพแย่ลงได้

ตัวอย่างการทำลายรองเท้าหนึ่งคู่ : https://www.youtube.com/watch?v=uAH0K7porxw

รองเท้าจากขยะ

ในส่วนของวัสดุทางเลือก ก็มีคนพยายามคิดค้นมาบ้างแล้วด้วยการนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการผลิต ด้วยเทคนิคการใช้ PET รีไซเคิลผสมกับเส้นใยธรรมชาติ หรือพื้นยางกับกากกาแฟ ฟังดูดีมากแต่ กลับยิ่งสร้างปัญหาหนักกว่าเดิมเพราะวัสดุนั้นยิ่งปนเปื้อนการนำกลับมา recycle เอาวัสดุมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ยิ่งยากกว่าเดิมเป็น ทวีคูณ เช่น แบรนด์ christian kimber รุ่น Terrazzo Recycled Low Top ที่มีการนำเศษยางมาใช้ในการทำพื้นรองเท้า

ที่มา : https://christiankimber.com/.../terrazzo-recycled-low-top...

ส่วนประกอบของรองเท้า

ความท้าทายของ Adidas กับการออกแบบเพื่อความยั่งยืน

การผลิตรองเท้าผ้าใบในยุคแรกมักจะเป็นหนังที่มีพื้นรองเท้าเป็นยาง จากนั้นบริษัทต่างๆก็คิดค้นวิธีการในการทำรองเท้าขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นโฟมหรือพลาสติกอ่อนจำพวก thermoplastic ที่เต็มไปด้วยรูระบายอากาศและเพิ่มการกันกระแทก ในปัจจุบันรองเท้าผ้าใบที่มีประสิทธิภาพมักจะใช้วัสดุที่ไม่ซ้ำกันมากถึง “12-15 ชนิด” การเอาวัสดุที่แตกต่างกันมารวมร่างกันก็ต้องใช้กาวให้เหมาะสมกับวัสดุด้วย โดยมากจะเป็นกาวยางที่มีความสามารถในการยืดหดตัวไปตามวัสดุได้ หรืออีกวิธีก็คือเส้นด้ายที่นำมาเย็บให้วัสดุสองชิ้นติดเข้าด้วยกัน
จากที่อารัมภบทมายาวนาน สรุปคือ ส่วนผสมของวัสดุที่แตกต่างนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้รองผ้าใบที่ใช้แล้ว “ รีไซเคิลได้ยากมาก” และถึงแม้จะแยกวัสดุออกจากกันได้ กระบวนการรีไซเคิลวัสดุแต่ละชนิดก็ต้องใช้กรรมวิธีในการ recycle ที่แตกต่างกันไม่สามารถทำได้ในพื้นที่เดียว และในการขนย้ายยังก่อให้เกิด carbon footprint เพิ่มขึ้นอีกด้วย

คลิปการประกอบรองเท้าในแต่ละคู่ : https://www.youtube.com/watch?v=4J_kxwT9zX4

speedfactory ของ adidas

Speedfactory ก้าวแรกที่ล้ม แต่ลุกเร็วมากๆๆ

โครงการแรกที่ Adidas เริ่มทำเลยคือ การเริ่มทำ Speedfactory ที่ Germany โดยต้องการรวมความสามารถในการผลิตรองเท้าเข้ามาอยู่ภายใต้โรงงานนี้แห่งเดียว ด้วยการเน้นใช้ Robot กับ Automation มาทดแทนแรงงานราคาถูกจากโรงงานในเอเชีย สิ่งที่ Adidas คาดหวังหลักๆเลยคือการหาวิธี ลด carbon footprint ที่เกิดจากกระบวนการผลิตแบบเดิมที่ part แต่ละชิ้นถูกกระจายไปผลิตตามโรงงานที่ต่างๆตามความเชี่ยวชาญด้านวัสดุของแต่ละโรงงาน ยกตัวอย่าง ส่วน upper ของรองเท้าจะถูกส่งไปโรงงานที่มีเครื่องทอจำพวก Flat knit ที่สามารถสร้าง pattern ที่หลากหลายในการทอแต่ละครั้ง หรือส่วนของ sole ที่จะส่งไป compression mold วัสดุตระกูล PE หรือ TPU แล้วแต่แบบ จากนั้น part แต่ละชิ้นจะถูกส่งไปประกอบที่โรงงานที่ Adidas กำหนดให้เป็นจุดกระจายสินค้าไปตาม Shop ต่างๆ ทั่วโลกอีกที ทีนี้ Speedfactory มองว่าถ้าพวกเค้าลดการเดินทางของวัสดุเหล่านี้ได้ carbon footprint ในการผลิตควรจะลดลง

แต่หลังจากปล่อยให้เจ้า Speedfactory เริ่มใช้งานไปสักระยะสิ่งที่เกิดก็ไม่เป็นดังตั้งใจ เครื่องจักแต่ละชิ้นค่อนข้างใช้เวลาในการเรียนรู้และต้องใช้ความรู้ในการติดตั้งเป็นพิเศษซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการซ่อมแซมและพัฒนาแล้วไม่คุ้มในการผลิตรองเท้าให้ cosumer จริงๆ และสุดท้ายแล้วรูปแบบการผลิตไม่ได้ลด carbon footprint เท่าที่ควร Adidas จึงสร้างแนวคิดใหม่ว่า แทนที่เราจะมีศูนย์กระจายสินค้าที่เดียว เราเปลี่ยนเป็นโรงงานขนาดเล็กกระจายไปอยู่ตามเมืองเพื่อผลิตรองเท้าผ้าใบสำหรับคนในเมืองดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า

กำเนิด futurecraft

Futurecraft รองเท้าที่จะลดขยะและใช้ได้จริงก่อนปี 2024

ปี 2015 Paul Gaudio ผู้อำนวยการด้าน creative direction & future ของ adidas ได้นำเสนอแนวคิด futurecraft โดยเอาสิ่งที่เรียนรู้จาก Speedfactory มาปรับ โดยมองว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการออกแบบตั้งแต่ต้นทางก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ Futurecraft เลยเกิดมาเพื่อเป้าหมาย ในการค้นหาหนทางที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับ “อุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบ” เป็นภาพรวมแล้วค่อยเริ่มหาวิธีที่ไม่ได้คิดแต่ในมุมมองของการผลิตแบบ Speedfactory แล้วหวังว่าจะสามารถหา concept รองเท้าจะต้องถูกนำไปผลิต ใช้ได้จริงในระดับ Global scale และ ลดขยะรองเท้าได้ภายในปี 2024

futurecraft 3d

Concept แรกในตระกูล “Futurecraft Series” คือ Futurecraft 3D โดยเกิดจากความต้องการของ Adidas ในการสร้างผลิตภัณฑ์โดยการใช้การพิมพ์ 3 มิติ โดยร่วมมือกับ Materialise ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของระบบพิมพ์ 3 มิติ ด้วยการนำเทอร์โมพลาสติก (TPU) ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองของ Futurecraft 3D ได้อย่างแม่นยำและผลลัพธ์ที่ได้คือความโปร่งโล่งสบายของพื้นรองเท้าถือว่าเป็นการผลิตเพื่อให้ได้รองเท้าที่เหมาะกับฝ่าเท้ามากที่สุด แต่ด้วยรูปแบบการพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิตแล้วค่อนข้างล่าช้าถ้าเทียบกับพื้นโฟม EVA ที่ใช้เวลาในการฉีดขึ้นรูปเพียง 20 นาที ผลงานนี้จึงยังไม่ได้เป็นผลงานที่ผลิตขึ้นมาวางขายแต่ก็ถือเป็นก้าวแรกในการคิดริเริ่มนวัตกรรมให้สามารถนำไปพัฒนาได้ในอนาคต

ที่มา : https://design-milk.com/preview-custom-fit-future-adidas.../

futurecraft 4d

หลังจากนั้นได้พัฒนาการขึ้นแบบ 3 มิติ ของ Adidas Futurecraft 4D ด้วยการทำพื้นรองเท้าชั้นกลางจากเรซิ่นเหลวโดยใช้แสงและออกซิเจนเพื่อให้วัสดุเหลวแข็งตัว ผ่านวิธีการที่เรียกว่า Digital Light Synthesis เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้โดยบริษัทชื่อ Carbon ทำให้ Adidas สามารถสร้างรองเท้าที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าที่เคยเป็นของ Futurecraft ที่มีการผลิตที่รวดเร็วขึ้นซึ่งในปัจจุบันขายอยู่ในท้องตลาดด้วยราคา 8,000 บาท

adidas x parley

ต่อมาคือ Adidas x Parley Ocean Plastic เป้าหมายของการออกแบบ คือการกำจัดมลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรที่ทั่วโลกต้องเจอ เช่น ขยะจากการประมงเกินขนาด น้ำเป็นกรด หรือเศษขยะที่ทำลายแนวปะการัง โดยการคิดวิธีผลิตวัสดุที่ได้จากขยะในมหาสมุทรด้วยการเปลี่ยนให้ขยะกลายเป็นเส้นใยสำหรับทอรองเท้า ถือว่าเป็นการพยายามกำจัดวัสดุที่ดี แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องรีไซเคิล ทำให้รองเท้าก็ยังไม่สามารถออกจากกระบวนการที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยการผลิตที่รวดเร็วขึ้นซึ่งของการพิมพ์ 3 มิติของพื้นรองเท้าในปัจจุบันขายอยู่ในท้องตลาดด้วยราคา 8,000 บาท

ที่มา : https://www.fastcompany.com/.../this-sneaker-was-3d...
https://www.parley.tv/.../adidas-x-parley-stop-waiting...

futurecraft.footprint

Adidas x Allbirds ชื่อว่า Futurecraft.Footprint เป็นออกแบบร่วมกับแบรนด์ Allbirds ด้วยการใช้ carbon footprint ในการผลิตรองเท้าต่อคู่เพียง 2.94 กิโลกรัม ถือว่าเป็นการปล่อย carbon footprint ในการผลิตน้อยกว่ารองเท้าวิ่งทั่วไป ตัววัสดุอย่างพื้นรองเท้าทำจากอ้อย และส่วนบนทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล และผ้า Tencel จากเยื่อไม้ โดยเปิดจำหน่ายเพียง 10,000 คู่ เป็นรุ่น Limited ที่จะวางจำหน่ายในปลายปีนี้

ที่มา : https://www.designboom.com/.../adidas-allbirds.../

futurecraft strung

adidas futurecraft strung เป็นรองเท้าแบบ data-coded ตัวแรกโดยที่ทุกเส้นถูกจับคู่ข้อมูลในการขึ้นรูป จากนวัตกรรมที่มีการใช้หุ่นยนต์เพื่อสร้างเส้นใย ให้มีความพอดี ไร้รอยต่อและน้ำหนักเบา สามารถรองรับและส่งเสริมการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม ถือว่าเป็นการออกแบบที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงของ Adidas โดยมีกำหนดการจัดจำหน่ายในปี 2022

ที่มา : https://www.designboom.com/.../adidas-futurecraft-strung.../

eric liedtke กับรองเท้า futurecraft.loop

เปิดตัว Futurecraft loop รองเท้าที่จะออกจากระบบใช้แล้วทิ้งอย่างแท้จริง

Eric Liedtke สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ Adidas กล่าวว่า

“ เราไม่สามารถหยุดแค่การนำขยะพลาสติกออกจากระบบเป็นอย่างแรก แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับรองเท้าหลังจากที่คุณทิ้งไป ซึ่งมันไม่มีทางหายไป นอกจากฝังกลบและเผา ท้ายที่สุดบรรยากาศก็เต็มไปด้วยคาร์บอนส่วนเกินหรือมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก แนวคิดต่อไปของเราคือการกำจัด "ขยะ" เป้าหมายของเราคือคุณสามารถใส่รองเท้าเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ”

แนวทางการเกิด futurecraft.loop

จากการรองผิดรองถูกกับ project อื่นๆที่ผ่านมา Adidas ก็ยังไปไม่ถึงการสร้าง รองเท้า ที่ไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ในระดับ Mass หรือ Global scale จนกระทั่งปี 2019 Adidas ได้เปิดตัวรองเท้าผ้าใบที่ทำจากวัสดุชิ้นเดียว คือ เทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน (TPU) ที่ทำจากพลาสติกบริสุทธิ์ที่สามารถบดและผลิตใหม่ได้อีกครั้ง ภายใต้โครงการ Futurecraft Loop โดยมีเป้าหมายในการบรรเทาวิกฤตขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถ “Recycle ได้ 100%” ด้วยระบบปิดจากการใช้วัสดุเพียงชิ้นเดียวซึ่งก็คือ TPU ในการทำรองเท้าถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ Adidas ในการออกแบบรองเท้า ที่โดยปกติแล้วการทากาวเป็นการติดส่วนบนและพื้นรองเท้าเข้าด้วยกัน การทากาวทั่ววัสดุทำให้เกิดการปนเปื้อนและไม่เหมาะต่อการรีไซเคิลแต่ รองเท้า Futurecraft Loop ทำขึ้นจาก TPU ทั้งชิ้นด้วยการประกอบกันด้วยความร้อน หมายความว่ากระบวนการผลิตนี้ “ไม่มีการใช้กาว” ในการประกอบรองเท้าขึ้นมา ถือว่าเป็นการออกแบบที่เหมาะกับการรีไซเคิลได้มากกว่ารองเท้าที่มีการใช้กาวในการประกอบ

futurecraft.loop gen1,2

ด้วยเทคนิคที่ใช้กับวัสดุ TPU เพียงอย่างเดียว จึงทำให้การเกิด Loop จึงเป็นไปได้มากขึ้น สำหรับ Adidas ความเป็น Loop ไม่ได้หมายความว่าต้องนำวัสดุกลับคืนมาและนำกลับมาใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่เป็นการ “ยืดอายุการใช้งานของวัสดุให้ได้มากที่สุด” เป็นวิธีการจัดการผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าโดยใช้การออกแบบในกระบวนการทำงานร่วมด้วยไม่ใช่การออกแบบที่คิดภายหลัง ถือว่าเป็นรูปแบบการตลาดที่น่าสนใจของ Adidas เลยทีเดียว เพราะในความเป็นจริงวัสดุที่ถูกใช้แล้วก็จะมีส่วนที่ปนเปื้อน ทำให้คุณภาพของวัสดุลดลงในทุกครั้งที่นำกลับมาบด แล้วฉีดเข้าไปในแม่พิมพ์ใหม่ ก่อนที่จะเอาเศษวัสดุที่บดไปทำผลิตภัณฑ์มูลค่าน้อยอื่นๆ การนำกลับมาสร้างรองเท้าใหม่จึงเป็นหนทางที่ดีกว่า

รองเท้า Futurecraft Loop ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับ concept "กำจัดขยะพลาสติก" ที่เน้นในเรื่องของ mono material ที่เป็นการออกแบบที่ประกอบด้วยวัสดุเพียงประเภทเดียว วัสดุ mono material รีไซเคิลง่ายกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสิ่งต่างๆ mono material ใช้พลังงานน้อยในการรีไซเคิล เนื่องจากไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแยกวัสดุออกจากกัน เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงการรีไซเคิลนั่นเอง ในกระบวนการผลิตมีการนำ TPU บริสุทธิ์มาแปรรูปเป็นโฟม เส้นด้าย และสามารถนำพลาสติกกลับสู่โครงสร้างเดิมผ่านกระบวนการเคมี การรีไซเคิลพลาสติกอย่างไม่สิ้นสุดถือว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

feedback จากผู้ใช้ futurecraft.loop

Futurecraft Loop กับ Feedback Loop ที่กำลังเกิดขึ้น

เป้าหมายสูงสุดของโครงการที่วางไว้คือ ออกรองเท้าที่แก้ปัญหาและ “ถูกผลิตในระบบ mass production” ได้จริงๆในปี 2024 Adidas ได้พัฒนา Futurecraft loop ทุกปีและรับ feedback กลับมาปรับปรุง จนกว่าจะได้แนวทางที่สมเหตุสมผลมากที่สุด
Futurecraft Loop Gen 1 เปิดตัวในปี 2019 และมีผู้ทดลองใช้งานมากถึง 200 คน เพื่อให้ Adidas เริ่มพัฒนากระบวนการรีไซเคิลหลังจากนั้นรองเท้า Gen 1 ก็ได้ถูกส่งคืนและเปลี่ยนเป็น Gen 2 ที่มีส่วนบนเป็นสีน้ำเงินจากเทคนิคการย้อมสีโดยไม่ใช้น้ำ เป็น 1 ในเทคนิคการย้อมที่คำนึงถึงการลดมลพิษทางน้ำ
กระบวรการเก็บ Feedback loop ของ adidas ก็น่าสนใจมากกลุ่ม user ที่ adidas เลือกเป็นทั้งนักกีฬา นักสะสม คนธรรมดา เป็น influencer ที่ได้ รับ Futurecraft loop ไปทดลองใช้ หลายคนก็ลงเป็น content ใน Youtube channel สร้างกระแสของรองเท้าให้ adidas แม้ยังไม่ลงตลาด เมื่อ user ใช้ไปได้สักพักนึง ก็จะขอให้ส่งรองเท้ากลับมาที่ adidas เพื่อเก็บขอมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่สึกหรอที่เกิดจากการใช้งาน, ข้อมูลเกี่ยวกับความ comfort ของรองเท้าเมื่อเทียบกับรองเท้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน, performance ของร้องเท้าเมื่อใช้ใส่วิ่งใส่ ออกกำลัง กับนักกีฬาจริงๆ ข้อมูลเหล่านี้พิเศษมาก ทำให้ในแต่ละ Gen ของ Futureloop จะต้องถูกปรับ ก่อนที่จะเอาวัสดุ TPU บดออกมาประกอบสร้างใหม่ใน Gen ต่อไป
ถึงแม้ว่า Adidas Futurecraft Loop ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขและยังไม่ใช่กระบวนการรีไซเคิลที่ดีที่สุดแต่ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้กับสินค้าอื่นๆของ Adidas ได้มากกว่า Futurecraft และเป็นก้าวแรกของ Adidas ในการช่วยกำจัดขยะพลาสติกที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ถือว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของแบรนด์ในการบรรเทาวิกฤติพลาสติก
ทางทีมงาน Class A Solution ก็ยังคงเฝ้ารอ ว่า Gen 3 จะมีอะไรเปลี่ยนแปง หรือเข้าใกล้จุดหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

TPU คืออะไร

TPU คืออะไร

เทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน (วัสดุ TPU) เป็นพลาสติกชนิดพิเศษ โดยพลาสติกถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1 เทอร์โมพลาสติก (TP) เป็นพลาสติกที่เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัวสามารถเปลี่ยนรูปและหลอมเหลวได้ ต่างจากประเภทที่ 2 คือเทอร์โมเซตติ้งพลาสติก (TS) ที่เป็นวัสดุพิเศษทนต่ออุณหภูมิและปฏิกิริยาทางเคมี ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้
วัสดุ TPU เป็นเทอร์โมพลาสติกชนิดหนึ่งเรียกว่า เทอร์โมพลาสติกอีลาสโตเมอร์ (TPE) เป็นพอลิเมอร์กลุ่มหนึ่งที่เกิดจากการนำเทอร์โมพลาสติกมาผสมกับยางกลายเป็นวัสดุผสมที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ยางเทอรโมพลาสติก หรือ TPE สามารถขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติก มีสมบัติที่ยืดหยุนอ่อนนุ่มคล้ายยาง แต่เทอร์โมพลาสติกจะอุณหภูมิเหมือนยางบางช่วงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นยางเทอร์โมพลาสติกจะอ่อนตัวและไหลได้เหมือนพลาสติก แต่เมื่ออุณหภูมิเย็นลงยางเทอร์โมพลาสติกก็จะเปลี่ยนสภาพจากของเหลวที่ไหลได้ไปเป็นของแข็งที่มีสมบัติคล้ายยาง และสามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้ ยางเทอร์โมพลาสติกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ บล็อคโคพอลิเมอร์ (block copolymer) และ ของผสมระหวางยางกับพอลิโอลิฟินส์
ยางเทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน จัดอยู่ในประเภท บล็อคโคพอลิเมอร์ เป็นยางเทอร์โมพลาสติกที่มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นสายโซ่ยาว ในสายโซ่โมเลกุลจะประกอบด้วย 2 เฟส คือ ส่วนแข็งและส่วนอ่อน โดยคุณสมบัติความแข็ง-อ่อนขึ้นอยู่กับอัตราส่วน โครงสร้าง และน้ำหนักโมเลกุลของสารที่นำมาใช้
จุดเด่นของเทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน (TPU) คือการทำให้วัสดุปรับแต่งและสามารถผลิต TPU ที่แตกต่างกันได้มากมายด้วยการปรับโครงสร้างของพอลิเมอร์ให้มีคุณสมบัติสุดท้ายที่ต้องการของวัสดุได้ TPU มีความยืดหยุ่นและทนต่อการขีดข่วนเลยมักจะใช้ในกระบวนการผลิตหลายอย่างทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรม วัสดุ TPU มีประโยชน์และคุณสมบัติมากมาย โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่พิมพ์ 3 มิติด้วย TPU จะมีความทนทานและทนต่ออุณหภูมิแวดล้อมได้สูงถึง 80 องศาเซลเซียส วัสดุ TPU มีหลากหลายรุ่น แต่โดยหลักแล้ว แบ่งได้เป็น 2 ประเภท รู้จักกันในชื่อ Polyether Polyurethane และ Polyurethane โดยทั้งสองมีลักษณะแตกต่างกันออกไปได้ตามความต้องการเฉพาะ
คุณสมบัติของเส้นใย TPU
TPU มีคุณสมบัติหลากหลาย ทำให้เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการทนทานต่อการเสียดสี น้ำมัน สารเคมี และการสึกหรอ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมและการกีฬา
ความสามารถของ TPU คือความแข็งที่ปรับแต่งได้เนื่องจากวัสดุมีคุณสมบัติคล้ายยางและแข็งพอๆกับพลาสติก ส่วนเส้นใย TPU แตกต่างจากเทอร์โมพลาสติกแข็งอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติในเรื่องของความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังมีการยึดเกาะระหว่างชั้นที่ดีเยี่ยมและไม่มีการม้วนงอหรือหลุดลอกระหว่างกระบวนการพิมพ์ 3 มิติ



ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ :

https://www.facebook.com/classasolution/

https://www.blockdit.com/pages/611d1d3bbf6a97310ee7d712

Previous
Previous

ความพยายามในการสร้าง SuperCar คันแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2007

Next
Next

The Shaker ความเชื่อทางศาสนา สู่ปรัชญาการออกแบบ