7 เทคนิคการออกแบบเพื่อบรรเทาภาระสิ่งแวดล้อม

7 การออกแบบผลิตภัณฑ์ช่วยสิ่งแวดล้อม

7 วิธีการออกแบบเพื่อบรรเทาภาระสิ่งแวดล้อม

การออกแบบผลิตภัณฑ์ในตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้และการตลาด กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงพุ่งเป้าไปที่ การใช้งาน และ ราคา ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาขยะล้นโลก เพราะการให้ได้มาซึ่งราคาที่ถูก ต้องแลกมาด้วยการผลิตในจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน ทั้งคนและเวลา หากนักออกแบบไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของภาระสิ่งแวดล้อมในระหว่างพัฒนาสินค้าเลย สินค้าเหล่านั้นก็จะสร้างปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปตลอดอย่างไม่มีสิ้นสุด ในการออกแบบปัจจุบันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราต้องตั้งคำถามให้มากขึ้นถึงสิ่งที่เราจะออกแบบเพื่อให้ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้คิดเลย เช่น การออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะมีวิธีการผลิตอย่างไรให้ง่ายต่อการประกอบ? ในกรณีที่พังจะซ่อมอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นขยะได้ง่ายเกินไป? และถ้าทิ้งจะจัดการกับขยะชิ้นนี้ยังไง? หรือตั้งคำถามกับการออกแบบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ว่าจะไปลงเอยที่ไหน?

วันนี้ทาง Class A Solution มี 7 แนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม มาเล่าให้ฟัง เป็นเทคนิคที่มาจากทั้งประสบการณ์ของเราเองและรวมไปถึงเทคนิคที่แบรนด์ดังๆได้ใช้กัน หวังว่าจะมีประโยชน์ให้กับใครหลายๆคนที่มีความสนใจในเรื่องของการออกแบบที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ปัญหาในขั้นตอนการออกแบบของแบรนด์ต่างๆที่ทางเรายกตัวอย่างมาให้ในวันนี้

สามารถอ่านบทความ design อื่นๆได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/blog

adidas futurecraft.loop

1.ใช้วัสดุชนิดเดียว (mono material) หรือเลือกใช้วัสดุให้น้อยที่สุดในการสร้างผลิตภัณฑ์

หนึ่งในอุปสรรค์ของการ recycle คือ การแยกวัสดุ เนื่องจากวัสดุแต่ละประเภทจะใช้วิธีการ recycle แตกต่างกัน ขยะที่มีวัสดุมากกว่าหนึ่งประเภท จำเป็นต้องใช้แรงงานในการคัดแยกวัสดุออกจากกันก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ recycle ที่ถูกต้องตามประเภทของวัสดุ ด้วยเหตุนี้ หากแยกวัสดุได้ยาก ต้นทุนในการแยกวัสดุก็จะแพง ขยะนั้นก็จะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน ขยะมักจะถูกทิ้งไปและไม่นำเข้าสู่กระบวนการ recycle อีกครั้งนึง กลายเป็นว่าขยะพวกนี้กลับไปล่องลอยกองอยู่ในทะเล และ landfill

นอกจากนี้การใช้วัสดุหลากหลายชนิดในการออกแบบ หมายความว่าในการผลิตจะใช้โรงงานมากกว่าหนึ่งแห่งเพื่อการผลิตด้วย เช่น หากต้องการวัสดุในการสร้างผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 3 ชนิด ทำให้ต้องหาโรงงานที่รับผลิตวัสดุถึง 3 โรงงานและให้แต่ละโรงงานส่งวัสดุเหล่านั้นมารวมกันที่โรงงานแห่งเดียวเพื่อประกอบและนำไปขายเป็นสินค้า จากเหตุการณ์นี้ ก็แปลว่า Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นในการขนส่งชิ้นงานจากโรงงานที่หนึ่งไปสู่โรงงานประกอบอีกที่หนึ่งก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และหากมีชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อการประกอบเป็นสินค้า การขนส่งก็ยิ่งหนักเป็นทวีคูณ

ในปัจจุบันหลายบริษัทเลยพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์หรืออื่นๆ ให้ออกมาเป็นวัสดุโมโนโดยใช้วัสดุเพียงชนิดเดียวตลอดกระบวนการผลิต ข้อดีของการใช้วัสดุโมโน คือ ขั้นตอนการรีไซเคิลที่ไม่ซับซ้อน และง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนของชนิดวัสดุที่นำมาใช้ ก็สามารถช่วยลดการผลิต CO2 ตลอดกระบวนการผลิตไปได้มาก แล้วความง่ายในการ recycle ก็ทำให้คุ้มค่าที่จะนำขยะนั้นกลับเข้าสู่กระบวนการ recycle ด้วยเช่นกัน

วันนี้ทาง Class A Solution จะยกตัวอย่างง่ายๆจากรองเท้า adidas futurecraft loop เป็น 1 ใน concept shoe ที่ adidas ทำออกมาโดยใช้วัสดุ TPU เพียงอย่างเดียว นอกเหนือจากการนำเอาขยะมาใช้ การใช้ 3d print กับรองเท้า และอื่นๆอีกมากมาย ก่อนจะกลายเป็น futurecraft loop gen1 ขึ้นในปี 2019 เรียกได้ว่าเป็นการเข้าใกล้ความยั่งยืนของ adidas เป็นอย่างมากด้วยการนำวัสดุ TPU เพียงชนิดเดียวมาใช้ทำรองเท้าทั้งชิ้น และเมื่อใช้งานจนเก่าแล้วยังส่งกลับมาให้ adidas ทำการ recycle เป็นรองเท้าคู่ใหม่จากวัสดุเดิมของรองเท้าแล้วส่งกลับไปให้ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นรองเท้าที่แทบจะไม่มีขยะเหลือทิ้งเลยทีเดียว

สามารถอ่านรายละเอียดของ futurecraft ตั้งแต่ต้นกำเนิดของการเกิดและที่มาของ futrecraft ที่พัฒนาจนกลายเป็น futurecraft loop ได้ทาง : https://www.class-a-solution.com/blog/futurecraftloop

aeron chair harman miller

2.ออกแบบให้ถอดแยกชิ้นส่วนได้ทุกชิ้น หลีกเลี่ยงกาว หรือเทคนิคที่ทำให้แยกวัสดุไม่ได้

เคยไหมหงุดหงิดกับสิ่งของบางอย่าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือของใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆ พอถึงเวลาซ่อมแซมมักจะมีขั้นตอนในการแยกส่วนออกมาเป็นสิบๆขั้นตอน แถมบางส่วนยัง “ติดด้วยกาวหรืออีพ็อกซี่” ให้แยกส่วนยากกว่าเดิมอีก ถ้าขั้นตอนจะยากขนาดนี้ User ก็คงเหลือเพียงทางเลือกเดียวคือ “ทิ้ง” ไปทั้งชิ้นอย่างนั้นเลย และด้วยความยากในการแยกชิ้นส่วนย่อมหมายถึงความยากในการ recycle ด้วยเช่นกัน นอกจากการออกแบบโดยใช้วัสดุชิ้นเดียวหรือน้อยชิ้นที่สุดแล้ว การออกแบบให้แยกชิ้นส่วนง่ายก็เป็นสิ่งจำเป็นมากเช่นกัน

การออกแบบนี้เรียกว่า Design for Disassembly ที่คำนึงถึงความสามารถในการถอดแยกชิ้น ซ่อมแซม หรือ รีไซเคิลได้ในอนาคต เทคนิคง่ายๆที่ทำกันได้ทันที คือ
- หลีกเลี่ยงใช้กาว เพราะกาวก็คือวัสดุชนิดหนึ่ง
- หลีกเลี่ยง technique co-molding ที่ฉีดพลาสติกสองชนิดเข้าไป บนชิ้นงานชิ้นเดียว ทำให้การแยกวัสดุเป็นเรื่องที่ยาก
- ลดจำนวนน๊อต เพราะน๊อตเยอะยิ่งถอดยากหากวัสดุไม่คุ้มค่าที่จะแยกออกมาโรง recycle ก็จะไม่รับ
- หลีกเลี่ยงการใช้ fitting ที่ไม่ standard เช่นหัวน๊อตที่ต้องใช้ เครื่องมือพิเศษในการถอด หากผลิตภัณฑ์นั้นวิ่งไปสูงโรง recycle แล้วไม่มี tools ในการถอด ก็หมายความได้ง่ายๆ ว่าต้อง "ทิ้ง"

ยกตัวอย่าง Aeron Chair ของ Harman Miller มีโครงสร้างของพนักพิง และเบาะรองนั่งที่ถูกผลิตจากตาข่ายที่มีส่วนผสม 56%elastomeric and 44% polyester ที่ถูก Co-mold เข้าก้บ frame plastic ที่ทำจาก glass-filled nylon เพื่อเอา function การระบายอากาศของตาข่ายที่ยืดหยุ่นให้รับกับสรีระ มาแทนการใช้เบาะโฟม และเจ้าเทคนิค co-molding คือ การเอาวัสดุตาข่ายเข้าไปวางในแม่พิมพ์แล้วฉีดพลาสติกเข้าไปตามขอบเพื่อให้ตาข่ายขึ้นเป็นทรงตาม shape ของ frame plastic ในยุค 90s ที่ Aeron Chair เปิดตัวเป็นครั้งแรกถือว่าทำการบ้านในเรื่อง Design for Disassembly ได้ดีมาก เพราะหากเรานึกถึงการ ที่จะซ่อม office chair ที่เป็นหนังหุ้มเบาะ การซ่อมคงเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ก็ถูกทิ้งเมื่อหนังขาดเพียงนิดเดียว แต่เจ้า Frame ของ Aeron ถอดประกอบได้สบายกว่าเป็นเท่าตัว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป Herman Miller เริ่มเห็นแล้วว่าเทคนิคการทำพนักพิงแบบเดิมของ Aeron Chair แม้จะถอดประกอบง่าย แต่ Recycle แทบจะไม่ได้เลยด้วยการที่มันมีวัสดุที่ไม่สามารถจะแยกได้ Harman Miller จึงมีการพัฒนามาถึงรุ่น Sayl ออกแบบโดย Yves Behar เรียกได้ว่าเป็นรุ่นที่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Herman miller เลยก็ว่าได้ ด้วยความต้องการที่จะลดขั้นตอนและ process ที่ซับซ้อนของรุ่นก่อนหน้าโดยการทำให้พนักพิงรุ่น Sayl ทำมาจาก TPU เพียงชนิดเดียว ด้วยเทคโนโลยีของการฉีดแม่พิมพ์ที่ทำให้ TPU เกิดความแข็งแรง การใส่ fitting เพื่อการประกอบที่ฝังลงไปเฉพาะจุด แทนที่จะเป็นการใช้ frame plastic ทั้ง frame เหมือน Aeron ทำให้ลดพาร์ทการประกอบลงและรีไซเคิลได้ง่าย เนื่องจากใช้พลาสติกเพียงชิ้นเดียวในการขึ้นรูปแทนการ Co-molding ที่ซับซ้อน และมีราคาสูงอีกด้วยเมื่อเทียบกับ Frame แบบเดิมของ เจ้า aeron

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=Qej-kUKcPhU
https://www.youtube.com/watch?v=fxslaSmcglE
https://www.hermanmiller.com/.../off.../performance-seating/

eames shell chair

3.หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุคอมโพสิส

วัสดุคอมโพสิต (composite materials) คือวัสดุที่เกิดจากวัสดุมากกว่า 2 ชนิดมาประกอบจนได้คุณสมบัติที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น fiberglass เป็นการนำเรซิ่นไปผสมกับเส้นใยแก้วก่อนใส่ตัวเร่งให้เรซิ่นแข็งตัว ทำให้สามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆได้ตามต้องการ และการผสมวัสดุก็ช่วยเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างทางวิศวกรรม และน้ำหนักเบา เป็นเทคนิคที่นิยมมากในการทำชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องบิน ก่อสร้างอาคาร ท่อส่งน้ำ สะพานหรือทางเชื่อม

แต่

การที่วัสดุถูกผสมกันจนแทบจะกลายเป็นวัสดุชิ้นเดียวกันนี่แหละ คือ ข้อเสียที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นถูกทิ้งกลายเป็นขยะ เทคนิคของ Composite จะไม่สามารถสร้างระบบอุตสาหกรรมการผลิตจะเป็นแบบปิดได้ หมายความว่า เราไม่สามารถเอาวัสดุที่ผลิตเป็นสินค้าแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการ recycle แล้วเอาวัสดุกลับมาวนผลิตซ้ำอีกทีได้ เนื่องจากวัสดุจาก composite มีการปนเปื้อนของวัสดุหลายชนิดและยากต่อการแยกชิ้นพลาสติก ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่ที่จะนำวัสดุคอมโพสิตมาใช้ ถ้าวัสดุหรือเทคนิคเดิมที่มีอยู่แล้วสามารถรองรับการใช้งานได้ก็ไม่ควรพยายามเอา วัดสุ Composite มาใช้

ยกตัวอย่าง เก้าอี้ Eames Shell Chair ออกแบบโดย Charles และ Ray Eames เป็นเก้าอี้ที่หล่อขึ้นรูปให้พอดีกับรูปร่างของร่างกายมนุษย์ (ergonomic) ด้วยการออกแบบจากการใช้วัสดุทางเลือก คือ Fiberglass (เรซิ่นโพลีเอสเตอร์เสริมด้วยใยแก้ว) ด้วยการดึงเอาข้อดีของไฟเบอร์กลาสในเรื่องของน้ำหนักที่เบาเพื่อลดน้ำหนักในการขนส่ง ความสามารถในการขึ้นรูป และความแข็งแรงที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ในช่วง 50s-60s ถือว่าเป็นนวัตรกรรมในเชิงวัสดุอย่างมาก และการทดลองของ Eames ก็ล้ำหน้าเช่นกัน แต่จากคุณสมบัตที่กล่าวมา พอเวลาผ่านไป เจ้า เก้าอี Fiberglass เริ่มหมดอายุการใช้งาน แล้วถูกทิ้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าวัสดุมันจะเริ่มย่อยสลายแต่อย่างใด มันยังคงรูปไว้ได้และเริ่มกลายร่่างเป็นภาระ ขยะย่อยสลายยาก recycle ไม่ได้ ทำได้เพียงปล่อยมันให้ลอยไปตามทะเล กลายเป็นภาระให้ลูกหลาน ในยุคเรา และยุคถัดไป

ที่มา : https://www.vitra.com/en-fi/product/eames-fiberglass-chair

cotton vs plastic vs paper bag

4.วัสดุธรรมชาติไม่ได้แปลว่ารักษ์โลก

ในปัจจุบันมีการพยายามออกแบบสินค้าออกมามากมายให้ดูรักษ์โลกโดยพยายามทำผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติเพื่อให้ย่อยสลายง่ายขึ้น แต่รูปแบบการใช้งานยังไม่เหมาะกับวัสดุที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้หลอดกระดาษที่เป็นวัสดุธรรมชาติแทนการใช้หลอดพลาสติกที่ตรงข้ามกับคุณสมบัติของกระดาษในเรื่องการกันน้ำ ทำให้หลอดเปื่อยง่าย กินยังไม่ทันหมดหลอดก็เปื่อยแล้ว การดื่มน้ำของเราดูจะไม่สนุกอีกต่อไป หรือจะเป็นการนำถุงกระดาษมาใช้แทนถุงพลาสติกแต่กลายเป็นว่าใช้งานได้ไม่นานก็ขาดแล้ว

การนำวัสดุมาใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานทำให้เรายืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น แข็งแรงและทนทาน ยกตัวอย่างการเลือกใช้ถุงผ้า ถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกแบบไหนดีกว่ากัน เป็นการมองว่าถุงแต่ละชนิดในกระบวนการผลิตสร้างคาร์บอนขึ้นมาเท่าไหร่ จริงที่ว่าถุงกระดาษย่อยสลายง่ายแต่ในกระบวนการผลิตใช้น้ำสะอาดไปมากกว่า 100 ลิตรต่อกระดาษ 1 กิโลกรัม และไม้ก็เป็นวัสดุทางธรรมชาติที่มีการใช้และหมดไป ทดแทนได้ด้วยการปลูกใหม่ที่ค่อนข้างใช้เวลานานมากในการเติบโตในแต่ครั้งของต้นไม้ การเอาทรัพยากรที่จำกัด และหายากมาใช้ทำ สินค้า consumable ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด

ในอดีตผู้คนนำไม้มาใช้ทำวัสดุต่างๆมากมายในกระบวนการผลิตมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมากและด้วยตัววัสดุของไม้เมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ความแข็งแรงของไม้จะลดลง จึงมีการทดแทนข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการนำพลาสติกมาใช้ ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและสร้างคาร์บอนน้อยมากเพียง 1.6 กิโลกรัมต่อถุง แล้วยังนำกลับมาผลิตเป็นถุงใบใหม่ได้เรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ขาดอย่างเดียวคือพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนที่ใช้แล้วทิ้ง และการบริหารขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการ recycle ทำให้ถุงพลาสติกกลายเป็นตัวร้ายทำลายโลกไปซะงั้น และ ต่อมาเราก็พยายามกลับไปใช้วัสดุธรรมชาติเช่น ถุงผ้า cotton แต่กลับลืมไปถึงปัญหาการสร้างคาร์บอนในการผลิตฝ้ายที่มากถึง 272 กิโลกรัมต่อการผลิตถุงผ้า 1 ใบ แสดงว่าเราต้องใช้ถุงผ้ามากกว่า 170 ครั้งถึงจะเทียบเท่าจำนวนการผลิตถุงพลาสติกเพียงใบเดียว กลายเป็นว่าถ้าเราใช้งานถุงผ้าแบบนับจำนวนครั้งได้

ถุงผ้าก็อาจจะไม่ใช่วัสดุที่รักษ์โลกได้เลย สามารถไปอ่านเรื่องราวของถุงผ้าฉบับเต็มได้ทาง : https://www.class-a-solution.com/blog/plasticbag

salmon chair

5.พยายามสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากวัสดุท้องถิ่น

ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น การเลือกใช้วัสดุก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้ววัสดุที่ใช้จะหาได้จากที่ไหนละ? การหาวัสดุจากหลายๆที่ หลากหลายชิ้น แน่นอนว่าต้องมีการขนส่ง และการขนส่งแน่นอนว่าใช้เชื้อเพลิงเผาน้ำมันให้กลายเป็น CO2 ขนส่งสินค้ามาโรงงานแน่นอน การขนส่งของเป็นจำนวนมากและระยะทางที่ไกล แน่นอนว่าปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการเผาน้ำมันในห้องเครื่องยนต์ก็ต้องมีจำนวนมากในแต่ละครั้งที่เกิดการขนส่ง ยิ่งใช้วัสดุหลากหลายชนิดเดินทางไกลมากเท่าไหร่ การขนส่งก็จะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น CO2 ก็จะสูงตามๆกันไป

การใช้วัสดุจากท้องถิ่นภายในตำบล หรือประเทศ เพื่อลดจำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในการขนส่ง และการผลิตจึงถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน

moonler furniture เป็น 1 ในแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นงานออกแบบโดยวัตถุดิบหลักคือ ไม้จามจุรี ไม้จามจุรีเป็นต้นไม้ที่มีลวดลายสวยงามและหาได้ง่ายกว่าไม้สักที่มีราคาค่อนข้างสูงและหายาก มีสีคล้ำคล้ายไม้มะม่วงหรือวอลนัท

ไม้จามจุรียังเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการแกะสลักไม้ หรืองานหัตถกรรมไม้ทางภาคเหนืออีกด้วย เป้าหมายของแบรนด์คือการส่งเสริมอาชีพของชุมชนในท้องถิ่นและยกระดับวัสดุที่มีในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภาคเหนือของประเทศไทยยังเต็มไปด้วยช่างไม้ที่มีทักษะและความสามารถสูง นำเสนอผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อุตสาหกรรมและงานหัตถกรรมร่วมสมัยให้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และการที่นำมาใช้เป็น ผลิตภัณฑ์ที่อายุยืน การใช้วัสดุธรรมชาติ ก็ถือว่าไม่เป็นผลร้ายกับสิ่งแวดล้อมเท่ากับนำต้นไม้ไปผลิตกระดาษที่ใช้แล้วทิ้ง

ที่มา : https://www.moonler.com/furniture-salmon-bench

cradle to cradle

6.เลือกวิธีการผลิตไม่ให้เกิดเศษวัสดุมากไป

การสร้างผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ซักตัว กล่องใส่ขนมซักชิ้น หรือหนังสือซักเล่ม ควรจะผ่านการออกแบบที่มีการวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ หากผลิตภัณฑ์เลือกที่จะตัดไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ควรคำนึงถึงไม้ทุกชิ้นส่วนให้นำมาใช้ให้เกิดคุณค่ามาที่สุด เช่น การออกแบบ package ควรคำนึงว่าในกระดาษ 1 แผ่นที่จะเอาไปตัด จะสามารถวางแพทเทิร์นของแพคเกจได้ทั้งหมดกี่ชิ้นแล้วจะเหลือเศษกระดาษมากน้อยขนาดไหน หรือหนังสือทั้งเล่มเมื่อสิ้นสภาพของหนังสือแล้วจะทิ้งในรูปแบบไหน เป็นสินค้ามือสองหรือจบลงที่ถังขยะ นอกจากนี้ หนังสือถือเป็นผลิตภัณฑ์จากกระดาษที่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ก่อให้เกิดขยะอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเศษจากการตัดมุม ตัดขอบ หรือเจาะรู(ถ้ามี) นอกจากนี้การรีไซเคิลกระดาษก็ใช้น้ำอย่างมหาศาลเช่นกัน

Class A Solution จึงขอยกตัวอย่างหนังสือ Cradle to Cradle หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการออกแบบอย่างยั่งยืน เขียนโดย Michael Braungart นักเคมีชาวเยอรมัน และ William Mcdonough สถาปนิกชาวอเมริกัน หนังสือเล่มนี้ทำจากพลาสติกสามารถล้างและเช็ดได้ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในระดับที่สูงกว่าหรือเท่ากัน(upcycling) แทนที่จะเป็นการ downcycling หรือการ recycle วัสดุแต่มีคุณค่าลดลง เช่น กระดาษขาว ถูก recycle เป็นกระดาษที่ความแข็งแรงลดลง เช่นกลายเป็นกระดาษชำระ ในการผลิตหนังสือ Cradle to Cradle เศษที่เหลือจากการตัดก็จะสามารถนำมาหลอมเป็นหนังสือใหม่อีกเล่มได้ไม่มีที่สิ้นสุดในโรงงานเดียวกัน รูปแบบการออกแบบของ Cradle to Cradle เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวงจรอุตสาหกรรมจากเส้นตรง จากโรงงาน-ไปร้านค้า-ไปหาผู้บริโภค-และกลายเป็นขนะ มาเป็นวงกลมให้ผู้บริโภคนำหนังสือกลับเข้าสู่กระบวนการ recycle หมุนวนอยู่ในวงจรที่ปิด เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่คิดลึกไปถึงรายละเอียดของการผลิตและหาหนทางในการแก้ปัญหาเลยทีเดียว

ที่มา : https://en.wikipedia.org/.../Cradle_to_Cradle:_Remaking...

https://medium.com/.../%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8...

https://www.smithsonianmag.com/.../inventors-upcycling.../

standart part

7.พยายามใช้ standard part

มาตรฐานหรือ standards ถูกตั้งขึ้นมาจากการเอารายละเอียดจำเพาะทางเทคนิคหรือหลักเกณฑ์ที่เห็นตรงกันมาใช้เป็นกฎเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์,วัสดุ,กระบวนการที่ใช้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งใจ การใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบถือว่าเป็นรูปแบบและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพราะทำให้การซ่อมบำรุงง่าย โปรดักมีอายุยืนขึ้น พร้อมทั้ง ขยะก็จะถูกจุดการได้ง่ายเช่นกัน ของใช้ใกล้ตัวเราอย่างโทรศัพท์มือถือก็มีข้อกำหนดในการของการชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์ที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหลายๆรายได้ทำข้อตกลงที่จะใช้สายชาร์จในรูปแบบเดียวกันตามความคิดริเริ่มของ European Commission ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ การใช้สายชาร์จที่ต่างกันของมือถือเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากที่ชาร์จในปัจจุบันใช้ได้แต่กับมือถือบางรุ่นเท่านั้น หากผู้ใช้เปลี่ยนมือถือมักจะต้องซื้อที่ชาร์จใหม่และทิ้งของเก่าแม้จะอยู่ในสภาพดีก็ตาม ทำให้เกิดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการใช้ที่ชาร์จชนิดเดียวกันได้อย่างลงตัว จะสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อที่ชาร์จใหม่เมื่อซื้อโทรศัพท์ในทุกๆครั้ง ”

ข้อเสนอดังกล่าวนี้เองทำให้หลายบริษัททั่วโลกเลือกที่จะใช้วิธีการแบบเดียวกันในการออกแบบมือถือโดยอ้างอิงกับการใช้พอร์ต USB-C ในกระบวนการผลิต แต่มาตรฐานที่ถูกตั้งขึ้นมาไม่ได้มีกฎข้อบังคับตายตัว บางบริษัทจึงเลือกที่จะสร้างผลิตภัณฑ์เฉพาะของตัวเอง เช่น iPhone ที่ใช้ขั้วต่อแบบ lightning ที่เป็นอุปกรณ์เฉพาะและสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่รองรับกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดอื่นๆเลย เช่น แล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือรุ่นต่างๆ หรือเกมคอนโซลต่างๆ ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดคือใช้การชาร์จแบบ USB-C การซ่อมบำรุงก็จำกัดได้เฉพาะ Apple เท่านั้นอีกอายุผลิตภํณฑ์ก็สั้นลง ถ้าไม่ได้ถูกจัดการได้ดี และด้วยเจ้า lightning นี้จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ พวก port ที่เปลี่ยนจากหัว Lightning ไปสู่ port ประเภทอื่นๆ เพื่อตอบความต้องการของ user ที่หลากหลาย จนกลายเป็น ขยะ electronic ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการในการสร้างภาพลักษณ์ของ Brand

และนี่คือสรุป 7 วิธีการออกแบบที่จะช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อมที่มีในปัจจุบัน หากคุณสนใจบทความเกี่ยวกับ การออกแบบสามารถติดตามเราได้ที่
https://www.class-a-solution.com/blog
https://www.facebook.com/classasolution
https://www.blockdit.com/pages/611d1d3bbf6a97310ee7d712

ที่มา : https://www.tripplite.com/.../usb-connectivity-types...

Previous
Previous

Jonathan Ive บุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จของ Apple

Next
Next

ถุงผ้ารักษ์โลกผู้สร้างบาดแผลให้สิ่งแวดล้อม