ถุงผ้ารักษ์โลกผู้สร้างบาดแผลให้สิ่งแวดล้อม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพวกเรา Class A Solution ได้รับโอกาสดีๆจากลูกค้ามากมายให้เราช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อไปต่อยอดธุรกิจ โดยพื้นฐานของเราจะเน้นที่การสร้าง ”คุณค่า” ให้กับผลิตภัณฑ์เสมอ และหนึ่งในคุณค่ายอดฮิตในช่วงนี้คือ

"ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Eco Friendly)"

ลูกค้ามากมายจะเข้ามาพร้อมไอเดียการเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ กระดาษ ผ้าcotton มาแทนพลาสติกหรือโฟม ด้วยความเชื่อที่ว่าวัสดุธรรมชาติเหล่านี้สามารถย่อยสลายง่ายและไม่เป็นภาระให้กับสิ่งแวดล้อมเมื่อมันไปเป็นขยะอยู่ในทะเล หรือ landfill โดยมากโปรเจคเหล่านี้จะกลายเป็นไอเดียที่ถูกพับเก็บไปและไม่ได้ไปต่อ เพราะความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนวัสดุจากพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์ต่างๆที่ย่อยสลายยาก มาเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย “ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม” ได้เสมอไป ในผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีธรรมชาติในการถูกใช้งานที่แตกต่างกัน บางผลิตภัณฑ์อายุสั้น บางผลิตภัณฑ์อายุยืนยาวส่งต่อถึงลูกถึงหลาน ดังนั้นการจะออกแบบเพื่อความยั่งยืนจริงๆจึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนวัสดุ แต่ต้องเป็นการคิดทั้งกระบวนการแบบเป็น ”กลยุทธ์” หรือการใช้ Design Strategy

ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องถูกคำนวณปริมาณ CO2 ที่เกิดจากผลิต ด้วยการใช้ life cycle assessment (LCA) หรือการประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางของวัสดุ ไปสู่การผลิต และถูกใช้งานจนถึงวาละสุดท้ายที่โปรดักนั้นๆจะถูกกำจัดทิ้ง เราจะดูว่าใน 1 ช่วงอายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆใช้ทรัพยากรและสร้างมลพิษมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อพุ่งเป้าไปที่การลดก๊าซเรือนกระจกและควบคู่กับการลดโอกาสสร้างขยะ และบางทีอาจจะเป็นเรื่องของ Service Design ที่ต้องถูกออกแบบเพื่อที่จะแก้ปัญหาไม่ให้โปรดักนั้นถูกส่งไปเป็นขยะในท้องทะเลได้ง่ายๆอย่างปัจจุบัน

ทาง Class A Solution เลยอยากเอา VDO จาก TED-Ed ที่อธิบายว่าจริงๆแล้ว เจ้าถุงผ้า cotton ที่กำลังนิยมนี้มันช่วยลดปัญหาโลกร้อน หรือสร้างปัญหามากขึ้นกันแน่ เราอยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจมากขึ้นว่า การที่เราเปลี่ยนวัสดุให้รักษ์โลกก็ไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อนเสมอไป แต่เราต้องคิดถึงภาพรวม และ life cycle ของผลิตภัณฑ์ด้วย มาดูไปด้วยกันว่า ถุงผ้า/ถุงกระดาษ/ถุงพลาสติก ใครจะเป็นตัวร้ายในการทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน

cotton bag

ถุงผ้ารักษ์โลกผู้สร้างบาดแผลให้สิ่งแวดล้อม

“ถึงเวลาบอกลาถุงพลาสติก” แนวคิดในการเรียกร้องให้ผู้คนหันมาลดการใช้งานถุงพลาสติกให้น้อยลงกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้ จากปัญหาขยะถุงพลาสติกล้นโลก และภาพสะเทือนใจมากมายจากท้องทะเล แม่น้ำ หรือกองขยะพลาสติกที่ท่วมเป็นภูเขา จนทำให้เราเชื่อว่าเลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วหันไปใช้ ถุงผ้าและถุงกระดาษ ”น่าจะ” ช่วยแก้ปัญหาอันนี้ได้

หลังจากที่โลกเราได้เริ่มหันมาใช้ถุงผ้า และ ถุงกระดาษมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลับสวนทาง วัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้า cotton และ กระดาษ ที่ย่อยสลายง่าย ถูกทิ้งไปเท่าไรก็ไม่กระเทือนสิ่งแวดล้อม กลับผลิต CO2 มากกว่าเจ้าถุงพลาสติก HDPE ที่เรารณรงค์ให้เลิกใช้กันอยู่ เพราะกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่ง ถุงผ้า และถุงกระดาษนั้น "สร้างมลภาวะปล่อยก๊าซเรือนกระจก" และภาระให้สิ่งแวดล้อมได้หนักหนากว่าการผลิตถุงพลาสติก HDPE แบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว จนตอนนี้หลายๆคนต้องเริ่มมาทบทวนและย้อนกลับมาใช้ถุงที่ผลิตจากเส้นพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น PP, PE อีกครั้ง

Class A Solution จะขอแจกแจงถึงรายละเอียด ผลกระทบของวัสดุที่เรามาใช้ผลิตถุง และแนะนำวิธีการใช้ ถุง Shopping ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

อ่านวิธีคำนวนก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมได้ที่ :
https://www.epa.gov/.../greenhouse-gases-equivalencies...

ถุงพลาสติกหูหิ้ว

เรามาเริ่มจากถุงชนิดแรกเลยคือ ถุงพลาสติก HDPE
(ถุงที่เรากำลังบอกลากันอยู่ และเราก็ต้องบอกลาให้ได้)

ถุงพลาสติกสร้างขึ้นในปี 1967 และใช้อย่างแพร่หลายในปี 1970 ทำมาจากโพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูงหรือที่เรียกว่า HDPE เกิดจากการสกัดปิโตรเลียมจากพื้นดิน และผ่านกระบวนการต่างๆจนได้เป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนก่อนจะถูกขนส่งไปยังโรงงานผลิตถุงด้วยความร้อนสูงด้วยวิธีการ Extrusion เป็นแผ่น film บางๆ ซึ่งต้องคงความร้อนไว้ที่ อุณหภูมิ 180-205 C และด้วยกระบวนการนี้สามารถแจกแจงขั้นตอนการผลิตคล่าวๆได้ตามแผนผังในรูปถัดไป

กระบวนการผลิตถุงพลาสติก

การผลิตถุงผลาสติก จะเริ่มจาก

1. ขุดน้ำมัน
2. สกัดเป็นเม็ดพลาสติก
3. ส่งไปโรงงานผลิตแผ่นพลาสติกเปลี่ยนจากเม็ด ให้เป็นแผ่นขายเป็นม้วน
4. ส่งม้วนพลาสติกไปโรงงานผลิตถุงให้ได้ตามขนาดและแบบต่างๆ
5. กระจายไปให้ผู้กระจายสินค้าส่งไปตามร้านค้า
6. ผู้บริโภค

ในทุกกระบวนการผลิตถุงพลาสติกเกิดตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงมือผู้บริโภค จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประมาณ 1.6 กก./ถุง ทั้งนี้ตัวเลขนี้แปลผันตามแต่ละการจัดการของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานำเข้าน้ำมัน หรือเม็ดพลาสติก การขนส่งน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาหาเราย่อมผลิตก๊าส CO2 มากกว่า การที่เราใช้เม็ดพลาสติกในประเทศ หรือ ถ้าโรงงานผลิตถุงตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจาก Solar Cell ย่อมปล่อยก๊าส CO2 น้อยกว่าโรงงานที่ใช้พลังงานจากการเผาถ่านหิน เป็นต้น

จุดจบของถุงพลาสติก

จากค่าเฉลี่ย ก๊าส CO2 1.6 กก/ถุงHDPE 1ใบ จัดว่าเป็นปริมาณ carbon footprint ที่เล็กมากถ้าเทียบกับถุงแบบอื่น อย่างถุงกระดาษ หรือ ผ้า cotton ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่ปัญหาของ ถุง HDPE คือ “การออกแบบ และ พฤติกรรมของผู้บริโภค” ถุงพลาสติก HDPE ถูกสร้างมาให้ใช้แล้วทิ้งเพื่อความประหยัด ดังนั้นผู้บริโภคซื้อไป ใช้ได้ครั้งเดียวก็มักจะทิ้งเป็นธรรมดาและยากที่จะเอากลับมาใช้ใหม่ หรือเอากลับมาใช้ใหม่ก็ใช้ได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องทิ้งให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม เมื่อมันถูกปล่อยลงทะเล หรือ ไปกองถมเป็นภูเขาที่ใดที่หนึ่ง กลายร่างเป็นเศษพลาสติกสามารถหมุนเวียนที่จะอยู่บนโลกเรานานถึง 1,000 ปี เราอาจจะหาโลกใบที่สองได้แล้วเจ้า HDPE ยังอาจจะวนเวียนอยู่ในทะเลกันเลยทีเดียว

หากถามว่าเราพอมีหนทางที่จะยังคงใช้ เจ้า HDPE ต่อมั้ยก็คงต้องตอบว่ามี แต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมากๆๆๆๆๆ (ไม้ยมกล้านตัว) การ recycle ถุง HDPE ถือว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจมาก แต่การจัดการกับถุงที่ถูกใช้แล้วให้กลับมาเข้าสู่กระบวนการ recycle ทั้งหมดนั้นเป็นไปได้ยากมากในหลายๆประเทศ และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเลย แม้ว่าปัญหานี้ได้ถูกหยิบยกและพูดคุยมาหลายทศวรรศ แล้วก็ตาม

ถุงกระดาษและถ้วยกระดาษย่อยสลายง่าย

ถุงกระดาษพระเอกใจร้าย

เริ่มต้นเลยกระดาษทำมาจากเยื่อไม้ ในแต่ละครั้งต้อง ”โค่นต้นไม้” แม้จะไม่สร้าง CO2 เท่ากับกิจกรรมอื่นๆ แต่เราเสีย ผู้ผลิต O2 ที่ถูกตัดออกจากระบบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่เพียงเท่านั้นกระบวนการแปลรูปจากไม้สีน้ำตาลเข้มๆให้เป็นเยื่อกระดาษขาวๆน่าใช้ ก็เป็นกระบวนการที่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อมรุนแรงมาก โรงผลิตเยื่อกระดาษจะต้องใช้ความร้อนและความดันสูงผสมกับสารเคมีเพื่อเปลี่ยนเศษไม้ให้เป็นเยื่อกระดาษ และตัวเยื่อกระดาษจะถูกส่งไปสู่ผู้ผลิตกระดาษทำการรีด อบแห้งให้ เยื่อกระดาษออกมาเป็นแผ่นแล้วม้วนเป็นม้วนกระดาษ ก่อนที่จะถูกส่งไปผลิตออกมาเป็นถุงกระดาษตาม size ตามขนาดที่เป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมกับการปริ๊นท์ ข้อความต่างๆลงบนกระดาษด้วย

ดูขั้นตอนการผลิตถุงกระดาษที่รูปถัดไป

กระบวนการผลิตกระดาษ

การผลิตกระดาษเริ่มต้นที่
1. ตัดไม้
2. ขนส่งไปโรงผลิตเยื่อ(ใช้น้ำสะอาด)
3. ขนส่งโรงรีดกระดาษ(ใช้น้ำสะอาด)
4. ขนส่งโรงผลิตถุง
5. ขนส่งร้านค้า
6. ผู้บริโภค

จากภาพรวมข้างต้นปัญหาของการผลิตถุงกระดาษอยู่ที่วิธีการผลิตในปัจจับัน ซึ่งใช้น้ำสะอาดมากกว่าการผลิตพลาสติกถึง 4 เท่า และผลิตก๊าซเรือนกระจกถึง 3.1 เท่า ต้นทุนในการทำถุงกระดาษเพียงถุงเดียวทำให้เกิด CO2 ได้ประมาณ 5.5 กก./ชิ้น และอีกเช่นกัน ปริมาณ CO2 มากน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดการของโรงงาน บางโรงงานสามารถจัดการได้ตั้งแต่การผลิตเยื่อไปจนจบผลิตเป็นถุง ภาระในการขนส่งก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา แต่บางประเทศอาจจะแยกการผลิตในแต่ละขั้นตอนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ปริมาณก๊าซ CO2 จากการขนส่งก็ต้องสูงเป็นเงาตามตัว หากดูจากตัวเลขปริมาณ CO2 ทีสูงเป็น 3.1 เท่าเมื่อเทียบกับถุง HDPE เราควรจะใช้ถุงกระดาษ ”อย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนที่จะทิ้งมันไป เพื่อทดแทนปริมาณ CO2 ที่สร้างขึ้นมาจากการผลิตกระดาษ แต่ในความเป็นจริงแล้วถุงกระดาษเปราะบาง มาก เอามาใส่ของเย็นเกิดหยด น้ำ ถุงก็ขาดแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาถุงกระดาษกลับมาวนใช้ซ้ำให้คุ้ม กับ CO2 ที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระดาษ ด้วยปัจจัยนี้ กระดาษถือว่าเป็นตัวเลือกที่แย่มากๆสำหรับการมาทำเป็น ถุง shopping

ดูวิธีการผลิตถุงกระดาษเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.youtube.com/watch?v=E4C3X26dxbM

เครื่องจักรผลิตกระดาษ

ในส่วนของกระบวนการรีไซเคิลของถุงกระดาษก็ไม่มีทางสู้การ recycle plastic อีกเช่นกัน เราต้องใช้สารเคมีและน้ำสะอาดเพื่อกำจัดหมึกและทำให้กระดาษกลับไปเป็นเยื่อกระดาษ เหมือนกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น และในการรีไซเคิลของถุงกระดาษจะมีผลกระทบคือ คุณภาพของกระดาษที่ลดลงด้วยโครงสร้างที่เป็นเส้นใยจะแตกสลายไปทำให้คุณภาพของถุงกระดาษยิ่งแย่ลงไปอีก เป็นเงาตามตัว
ดังนั้นความสามารถในการย่อยสลายของกระดาษ เมื่อเทียบแล้วไม่มีความคุ้มค่าเลยหากมองในมุมของสิ่งที่สิ่งแวดล้อมที่เราต้องเสีย น้ำสะอาดจำนวนมากที่ควรเอาไปใช้กับกิจกรรมอื่นกลับถูกนำมาใช้ผลิตสินค้าอายุสั้นใช้แล้วทิ้งกับกิจกรรมของการผลิตกระดาษ ถ้าเป็นไปได้ เราควรหยุดใช้ จะดีที่สุด

ถุงผ้าหูหิ้ว

ถุงผ้า cotton ตัวเลือกที่สร้างความเจ็บปวดมากที่สุดให้กับธรรมชาติ

การทำถุงผ้าที่ทำมาจากฝ้ายหรือ cotton ก็สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มีความแข็งแรงและนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง นี่คือสิ่งที่ทุกวันนี้เรากำลังเชื่อและหันไปนิยมพฤติกรรมใช้ถุงผ้ากันมากมาย แต่ในการผลิตถุงผ้าแต่ละครั้งต้องมีการปลูกและเก็บเกี่ยวฝ้ายก่อน ฝ้ายที่เก็บเกี่ยวมีเพียง 33% เท่านั้นที่ใช้งานได้ น้ำและปุ๋ยที่เสียไปจากการปลูกฝ้าย มากมายกลับคาดหวังผลผลิตได้เพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น เมื่อได้ใยฝ้ายมาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการซัก ฟอก และย้อมสี ให้เป็นเส้นฝ้ายดูน่าใช้ และอีกเช่นเคยเป็นกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานและน้ำสะอาดเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะได้เส้นด้าย cotton คุณภาพดี ส่งไปโรงทอ ให้ออกมาเป็นผืนผ้า cotton แล้วม้วนส่งไป ให้โรงงานเย็บถุงผ้า เย็บขึ้นทรง ใส่หูหิ้ว พร้อม print โลโก้และสีของลูกค้าที่มาสั่งซื้อถุงผ้านั้นๆ

ดูขั้นตอนการผลิตที่รูปถัดไป

กระบวนการผลิตถุงผ้า

ขั้นตอนการผลิตถุุงผ้า cotton
1. ปลูกฝ้าย เก็บเกี่ยวฝ้ายใช้ได้แค่ ⅓
2. ขนส่งไปโรงผลิตด้าย
3. ขนส่งโรงทอผ้า
4. ขนส่งโรงเย็บถุงผ้า
5. ขนส่งกระจายไปตามร้านค้า
6. ผู้บริโภค

การผลิตถุงผ้าฝ้ายจะปล่อย CO2 ประมาณ 272 กก/ถุง เมื่อเทียบกับปริมาณ carbon footprint ของถุงประเภทอื่นๆ ก็คิดเป็น “170 เท่า!!!” ของการผลิตถุง HDPE และ “50 เท่า!!!” ของการผลิตถุงกระดาษ ถ้าดูจากตัวเลขแล้วง่ายๆเลย เราต้องพยายามใช้ถุงผ้า ให้ได้อย่างน้อย 170 ครั้ง หรือถุงนึงต้องใช้ซ้ำๆกันเป็นปี เพื่อให้ชดเชยกับ ปริมาณ CO2 ที่มันปล่อยอออกมา พอมาถึงจุดนี้เสียง How dare you!!! ของน้อง Greta T. ก็ลอยเข้าหูมนุษย์ถุงผ้าทุกคนในโลกนี้เลยทีเดียว ถึงแม้ความสามารถในการใช้ซ้ำของถุงผ้าดีมากแบบที่วัสดุเช่นกระดาษและ HDPE เทียบไม่ได้ และความสามารถในการย่อยสลายไปกับธรรมชาติก็ดูดีพอสมควร แต่ปริมาณ CO2 ที่ผลิตมา, ป่าไม้ที่ถูกแทนที่ด้วยการทำไร่ฝ้าย และน้ำสะอาดที่ต้องเสียให้กับการผลิตนั้นเทียบไม่ได้เลยทีเดียว

ถุงผ้าแจกฟรี

และอีกเช่นเคยพฤติกรรมการใช้งานของเราก็มี impact โดยตรงกับสิ่งแวดล้อมมากมาย ร้านค้าที่พยายามยัดเยียดถุงผ้ามาให้คุณซื้อ หรือ promotion แจกถุงผ้าที่มีชื่อแบรนด์ของร้านค้าติดอยู่บนถุงอย่างสนั่นหวั่นไหว ที่ทำให้มนุษย์ถุงผ้าหลายคนมีถุงผ้าเป็นสิบถุง ที่บางถุงแทบจะไม่ได้ใช้เลย ดังนั้นเราควรหยุดสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ แล้วหันกลับมาใช้ถุงผ้าที่มีอยูให้คุ้มที่สุด

ถุงผ้า cotton ก็สามารถเป็นตัวเลือกได้ แต่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานให้ เราควรมีถุงผ้าถุงเดียวใช้ๆซ้ำๆให้คุ้มกับอายุการใช้งานของมันให้ได้มากที่สุดก็จะพอลดภาระของโลกได้

สรุปแล้วถุงอะไรดีที่สุด

บทสรุป คือ เราควรกลับมาใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้นานๆแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้แล้วไม่ทิ้งอะไรง่ายๆ

จากตัวอย่างของถุงแต่ละประเภท นั้นสรุปเลยคือ
1. ถุงพลาสติก HDPE ----เลิกใช้----ถึงแม้ Carbon footprint จากการผลิตต่ำ แต่ภาระขยะมันเกินจะจัดการ
2. ถุงกระดาษ ---- เลิกใช้ ---- ถึง carbon footprint จะไม่มากแต่การใช้งานของมันไม่คุ้มกับทรัพยากรที่สูญเสียจากการผลิต
3. ถุงผ้า cotton ---- ยังพอใช้ได้ แต่ไม่ควรไปต่อ ---- เราควรมีแค่ถุงผ้าใบเดียวใช้ซ้ำๆให้คุ้ม แล้วหยุดผลิตเพิ่มแบบไร้เหตุผล

มาถึงทางออกของปัญหาก็คือ

การที่เราจะต้องหาถุง Shopping ใบหนึ่งที่
1. ไม่สร้าง Carbon Footprint มหาศาลจากการผลิต
2. สามารถใช้ซ้ำๆ คงทนหลายๆครั้งให้คนไม่ทิ้งมันไปง่ายๆ เหมือนถุงผ้า Cotton
3. เอากลับสู่กระบวนการ Recycle ได้แบบไม่สิ้นเปลืองเท่าวัสดุธรรมชาติ

จากผลรวมนี้เลยได้คำตอบ คือ ถุงที่ผลิตจากผ้าที่เกิดจากเส้นใย plastic ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น PP โพลีเอสเตอร์(PE) ไวนิล ผ้าไนล่อน และอื่นๆ แต่แค่วัสดุอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ มนุษย์ถุงผ้าอย่างพวกเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเช่นกัน หยุดการบริโภคนิยม พยายามนำเอาถุง shopping ใบเดิมกลับมาใช้ซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ จนให้พังกันไปข้างนึง และเมื่อหมดอายุขัยของมันแล้วก็มีวินัยพามันกลับไป เข้าสู่กระบวนการ recycle อย่างเป็นระบบ แล้วค่อยหา ถุงผ้าพลาสติกใบใหม่มาใช้วนๆไป

link เพิ่มเติม :
https://plastic.education/reusable-vs-disposable-bags.../
https://www.ted.com/.../luka_seamus_wright.../transcript...

Previous
Previous

7 เทคนิคการออกแบบเพื่อบรรเทาภาระสิ่งแวดล้อม

Next
Next

หลักการออกแบบที่ดี 10 ประการของ Dieter Rams