memphis เมื่อ Form ไม่อยากจะ Follow Function อีกต่อไป

memphis เมื่อ Form ไม่อยากจะ Follow Function อีกต่อไป

ย้อนกลับไปช่วง 1980 ในยุคสมัยที่

  • Form Follow Function = การออกแบบเน้นการใช้งาน

  • Minimal = มีเท่าที่จำเป็น

  • Less is More = น้อยแต่มาก

เปรียบเสมือนบทบัญญัติที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลของนักออกแบบ

Designer ทั้งหลายต่างยึดมั่น-ถือมั่นว่า นี่แหละคือสัจจธรรมอันถ่องแท้ นี่แหละคือหนทางที่ถูกต้อง นี่แหละคือคำตอบเพียงหนึ่งเดียวในการออกแบบ !!

จนกลายเป็นความเบื่อหน่าย ที่ทำให้นักออกแบบกลุ่มหนึ่งได้มารวมตัวภายใต้ชื่อ “memphis group” ด้วยเจตจำนงที่จะท้าทาย ”ขนบ” ของการออกแบบแห่งยุคสมัย เพื่อที่จะทำให้งานออกแบบนั้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

  • ทำไมงานออกแบบต้องสมบูรณ์ ?

  • ทำไมงานออกแบบต้องเต็มไปด้วยเหตุผล และความจำเป็น ?

  • พวกเขาจะสร้างคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง และแตกต่างให้วงการออกแบบได้แค่ไหน ?

  • งานออกแบบมันจะสนุกหลุดโลกไปไกลได้เท่าไร ?

วันนี้ Class A Solution จะพาทุกคนไปสำรวจ #memphisdesign ตำนานอีกบทหนึ่งในโลกแห่งการออกแบบ ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย !!

Form ที่ต้อง Follow Function แบบเดิม ๆ กับกลยุทธ์มักง่ายของทุนนิยม

ในภาคของสายอาชีพออกแบบช่วง 60s-70s นั้นทุกอย่างที่ถูกออกแบบมาช่างสมบูรณ์แบบ เป็นไปตามที่ระบบทุนนิยมได้สร้างไว้ ถึงขั้นที่ว่าโรงเรียนออกแบบเฝ้าตั้งคำถามใส่นักเรียนทุกคนว่า

“จบแล้วคุณอยากจะไปทำงานให้ Brand อะไร?”

ใช่ครับ โลกของทุนนิยมสุดโต่งได้ประดิษฐ์กลไก ที่เรียกว่า #branding ขึ้นมาเพื่อสร้าง “ภาพจำ” ให้คนจดจำไปที่แบรนด์จนเลิกที่จะตั้งคำถามไปในตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการ ผนวกกับการแข่งขันในตลาดมันช่างซับซ้อนเหลือเกิน เกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะไปไล่ตั้งคำถามใส่สินค้าทุกชิ้นที่ไปโผล่บนชั้นวางในห้างสรรพสินค้าที่เราเดินได้ไหว

การใช้กลยุทธ์แบรนด์ที่ส่งให้ผู้บริโภคค่อย ๆ เสพผ่านสื่อสุด mass อย่าง TV, magazine หนังสือพิมพ์ วิทยุ ก็เป็นเหมือนทางออกในการดำรงชีวิตของบริษัทต่างๆในช่วง 60s-70s อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเลือกลงทุนใน Brand ของนายทุน มันจึงเห็นภาพชัดเจนรวดเร็วกว่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม อย่างที่นักออกแบบไม่ต้องไปเสียเวลาเถียงให้ช้ำใจ
ดังนั้นเจ้าคำถาม “อยากทำงานให้ Brand อะไร ?” มันเลยดังกว่า “คุณอยากออกแบบอะไร”ซะด้วยซ้ำในวิชาออกแบบ

ส่งผลให้เวลามากมายในการเรียนเลยถูกไปทุ่มให้กับสิ่งที่เรียกว่า Brand Language ที่นักออกแบบต้องตอบให้ได้ว่า รถที่ออกแบบนั้นดูเป็น Audi, Benz, หรือ BMW มั้ยเพราะอะไร ? มากกว่าที่จะต้องตอบคำถามว่ารถคันนี้ได้มอบประโยชน์อันใด ให้กับผู้บริโภค ? เพราะถ้ายังตอบไม่ได้ว่า “อะไรที่ทำงานออกแบบรถของคุณดูเป็น Audi ” ในตอนเรียน ตอนสัมภาษณ์งานก็ยากมากที่จะหลีกเลี่ยงคำถามเรื่องแบรนด์จาก Design Director ของบริษัทต่าง ๆ ที่นักเรียนเหล่านั้นต้องไปเผชิญ

ด้วยระบบการทำงานของนักออกแบบที่ต้องคอยตอบสนองแบรนด์ที่ทุนนิยมได้สร้างเอาไว้ งานของนักออกแบบมากมายจึงไม่เคยได้ลิ้มรสชาติของ "#นวัตกรรมใหม่" หรือโจทย์ที่ท้าทาย ทุกวันได้แต่เฝ้าคิดว่า ลำโพง รถ เก้าอี้ โซฟา ขวดน้ำหวานสีดำ ซองใส่ยาสูบสีขาวแดง หรือแม้แต่ Billboard ตัวต่อไป จะทำอย่างไรให้ดูใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่ง #brandidentity ของบริษัทที่ดีไซน์เนอร์เหล่านั้นไปรับใช้

การทำงานจึงพุ่งเป้าไปที่

“Form ของใครสามารถ Follow Function เดิมๆ แต่ต้องทำยังไงก็ได้ให้ดูใหม่ ๆ บนแบรนด์เดิม ๆ ได้ก็กลายเป็นผู้ชนะ”

การทำงานของเหล่ากองทัพนักออกแบบในบริษัทจึงเป็นลักษณะ “แข่งกัน” จึงเกิดเป็นวัฒนธรรม

  • ใครอ่าน Design Magazine เยอะกว่า

  • เข้าใจความเป็นแบรนด์ลึกซึ้งจับใจ

  • มีคำพูดคมๆ ในแบบฉบับ Minimal minimal

ก็จะมี spot light สาดใส่ลงมาที่ตัวนักออกแบบคนนั้นที่ แบบลืมไปเลยว่ามีคนในอาชีพอื่น ๆ ในบริษัทร่วมกันสร้างผลงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในเวลาต่อมาเหล่านักออกแบบภายใต้ spot light นั้นก็นำทางวงการออกแบบสู่ยุค Design Celebrity ในยุค 80s-90s ที่คนตัดสินใจเพราะชื่อของนักออกแบบมากกว่าแบรนด์และโปรดักส์ที่เค้าออกแบบด้วยซ้ำ

Form follows emotion ????

เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปการออกแบบตามหลักทุนนิยมที่ทุก element ในงานออกแบบจะต้องมีความหมายและก่อให้เกิดประโยชน์ ต้องใช้ระบบ grid ในการจัดการให้งานดูเรียบร้อย รวมไปถึงการแข่งขันในความเนี๊ยบความเป๊ะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเริ่มก่อให้เกิดคำถามกับนักออกแบบบางกลุ่มว่า

“ความคิดสร้างสรรค์มันอยู่ที่ใด?”
“ความสนุกในงานออกแบบมันอยู่ตรงไหน?”
“แล้วจริง ๆ แล้วเราได้ออกแบบหรือเพียงทำตามแบบที่ขนบได้กำหนดไว้?”

ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ที่ผลักดันให้เกิดคำถามเหล่านี้ คงหนีไม่พ้นสภาวะสังคมโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ยุค 60s ที่ความหรูหราอู้ฟู่ของฝั่งผู้ชนะสงครามฝั่งทุนนิยมสุดขั้วอย่างอเมริกาถูกทำลายลง

ด้วยการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค (civil rights movement) ผนวกกับสงครามเย็นอันร้อนระอุมาพร้อมกับราคาน้ำมันที่แตะ all time high แบบไม่ต้องพักหายใจจนนำพาให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ที่บอกไม่ถูกว่าจะยุบตัวลงได้เมื่อไร จึงไม่แปลกอะไรที่คนใน 80s จะอยากตะโกนให้สุดเสียงว่า

“F–-k it!!!”

แล้วใช้ชีวิตให้มีความหวังกันดีกว่า

นี่คือจุดเริ่มต้นของกระแสงานออกแบบที่ไม่อยากจะสนใจอะไรแล้ว!

อยากจะใช้หลักการออกแบบที่ยึดถือคติแค่ว่า

“Form follows emotion” แค่นั้น

ฟังก์ชั่นไหนที่ใช้เยอะก็ไม่จำเป็นจะต้องใหญ่
ฟังก์ชั่นไหนที่ใช้น้อยก็ไม่เห็นจะต้องเล็ก
การเปลี่ยนแปลงในงานออกแบบจากแนวคิดเหล่านี้นี่แหละที่จะทำให้เกิดคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

Great changs happen in a small room

ในตอนเย็นของวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1980 ณ ห้องนั่งเล่นของ “Ettore Sottsass” เหล่านักคิด นักออกแบบ และสถาปนิก 22 คน กำลังถกเถียงกันถึงความสมบูรณ์แบบของปรัชญา “form follow function” ที่ทำให้โลกของงานออกแบบเหมือนถูกบังคับให้ปิดปากเงียบห้ามตะโกนให้ใครได้ยินจนหัวใจของนักออกแบบทั้ง 22 คนได้แต่ถามว่า

“เราจะทำอะไรที่ฉีกกฎออกจากสิ่งเดิมๆพวกนี้ได้บ้าง?”

หลังจากที่ได้เกิดคำถามนั้นขึ้นมา ปฏิบัติการณ์ทวงคืนความสนุกสนานให้กับโลกใบนี้ก็ได้เกิดขึ้น ณ ห้องแห่งนี้ เหล่านักออกแบบได้เริ่มมีแนวความคิดที่จะท้าทายวงการออกแบบก่อนหน้าทั้งหลาย ที่ทุกอย่างจะต้องออกมา “เฟอร์เพ็ค” ด้วยการสร้างงานออกแบบที่เรียกได้ว่าหลุดโลกไปเลย

พวกเขาต้องการเปิดโอกาสให้นักออกแบบได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่แบบไม่มีอะไรมากั้น แถมยังเพิ่มความขี้เล่นและความสนุกสนานในการเลือกใช้สี รูปร่าง และรูปทรง โดยที่ไม่ต้องแคร์หลักการอะไรทั้งนั้น!

เพื่อที่งานออกแบบเหล่านี้จะได้หลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการของความงาม ที่ชื่อว่า Minimalism ได้ซักที

เรียกได้ว่าไม่เอาอีกแล้ว
“less is more” จะมีแต่ “more and more” เท่านั้น!

ซึ่งแรงบันดาลใจในการก่อกบฎของวงการออกแบบในครั้งนี้ถูกรวบรวมมาจากแหล่งที่มาต่าง ๆ มากมาย อย่าง Art Deco วัฒนธรรมทางการออกแบบยอดนิยมก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจหลักของพวกเขา ด้วยการหยิบยกการใช้รูปร่างรูปทรงมาแต่เอามาปรับให้มีความสนุกมากขึ้น รวมไปถึงงาน Kitschy Style ในช่วงยุค 50s ของอเมริกาอีกด้วยเช่นกัน

Stuck Inside of Mobile with the Memphis Blues Again

ในตอนแรกการรวมกลุ่มของพวกเขายังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ผู้คนรับรู้เพียงแค่ว่าเป็นกลุ่มนักออกแบบและสถาปนิกรุ่นใหม่ชาวอิตาลี

แต่วันหนึ่งในขณะที่ Sottsass กำลังนั่งฟังเพลง "Stuck Inside of Mobile with the Memphis Blues Again" ของ Bob Dylan เขาก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า

“memphis”

เป็นชื่อที่เหมาะสำหรับใช้กับขบวนการออกแบบใหม่ของพวกเขา เพราะชื่อนี้นอกจากดึงดูดใจและจำได้ง่ายแล้ว ยังชวนให้นึกถึงเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองอีกด้วย พวกเขาจึงได้เริ่มใช้ชื่อนี้เป็นต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981

จริงๆแล้วในการสะกดชื่อ memphis นั้น Sottsass ตั้งใจให้เขียนโดยการใช้ "ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด" เพราะเขามีเจตนาที่จะท้าทายรูปแบบและบรรทัดฐานการออกแบบเดิมด้วยการละทิ้งการใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เวลาขึ้นต้นประโยคทั้งหมด ที่ซ่อนแนวความคิดที่ต่างจากอดีต ด้วยการกำจัด "ชนชั้น" ของงานออกแบบ

ทำไมตัวอักษรตัวแรกต้องเป็น Capital (ตัวพิมพ์ใหญ่) ?
"ใช่" มันไม่จำเป็นเพราะเราก็อ่านออกอยู่ดี พิมพ์เล็กให้ทุกคนเท่ากันดีกว่า memphis แบบนี้แหละ

ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกที่ดื้อรั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะต่อต้านและสร้างแนวทางของแบบของเขาเอง

และงานนิทรรศการแรกของกลุ่ม memphis ก็ได้จัดขึ้นในเดือนกันยายนของปีนั้น เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวที่ทั้งแรงและเร็วมาเลยทีเดียว โดยในงานนิทรรศการมีการจัดแสดงงานออกแบบที่หลากหลายทั้งเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ และของตกแต่งต่างๆ

ซึ่งการออกแบบของพวกเขานั้นถูกพูดถึงว่า “เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากงานออกแบบที่มีความจริงจัง (serious design) ในยุค 70s”

#exhibition #furnituredesign #lamps

Paid homage to the past while looking to the future

จริง ๆ แล้วงานสไตล์ memphis นั้นสอดแทรกอยู่ในหลายสิ่งรอบตัวเรามาตลอดโดยที่เราอาจจะไม่ได้สังเกตเห็น

ในความเป็นมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงความวุ่นวายยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราได้ตั้งสังเกตให้ลึกลงไปเราก็จะเห็นได้ถึงความงามที่มันซ่อนอยู่ในความยุ่งเหยิงเหล่านั้น

อย่างเช่นเมืองอียิปต์โบราณที่มีชื่อว่า “memphis” ถ้ามองเผินๆก็อาจจะเป็นแค่เมืองอียิปต์โบราณที่เคยรุ่งเรื่องเมืองหนึ่ง แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้วเมืองนี้เป็นเมืองที่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่สวยงามและหลากหลายมาก จากองค์ประกอบของการใช้สีสันสดใส มีลวดลายที่โดดเด่น และใช้รูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก

memphis เป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดในยุคยีอิปต์โบราณ โดยเมืองนี้เป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างที่สำคัญมากมายรวมไปถึง “the Great Temple of Ptah” ซึ่งสร้างถวายให้กับเทพเจ้า Ptah เทพเจ้าผู้ได้รับตำแหน่ง “ผู้จัดการช่างฝีมือ” ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเขาเป็นช่างฝีมือที่สร้างมนุษย์และโลกด้วยความช่วยเหลือจากศิลปะอันซับซ้อนของเขา วิหารนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง รวมถึงเสาขนาดใหญ่และผนังที่เต็มไปด้วยงานแกะสลักและภาพวาดอันประณีตมากมาย

นอกจากนั้นแล้วที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของสฟิงซ์ (Sphinx) รูปปั้นที่มีลำตัวเป็นสิงโตและมีศีรษะเป็นมนุษย์ โดยสฟิงซ์ถูกแกะสลักจากหินปูน เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยของฟาโรห์ Khafre ซึ่งถ้ามองสฟิงซ์เป็นชิ้นงานออกแบบก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบสไตล์ memphis ชิ้นแรก ๆ ของประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้!

ในปัจจุบันถึงแม้ว่าสฟิงซ์จะเกิดความเสียหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากยุคอียิปต์โบราณมาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งนี้แหละแสดงให้เราได้เห็นถึงการเริ่มต้นของไอเดียในการสอดแทรกความสนุกสนานที่ผสมผสานร่วมไปกับวัฒนธรรมและความเชื่อที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆของเหล่ามวลมนุษย์ชาติ ผ่านการซึมซับดัดแปลงจนหล่อหลอมให้มาเกิดเป็น memphis งานออกแบบที่ต้องการให้สีสันของงานออกแบบกลับมา

The Characteristics of Memphis Design

ถ้า Minimalist Design คืองานออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย memphis design คือขั้วตรงข้ามของสิ่งนั้น!

เฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบสไตล์ Memphis ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากงาน Art Deco ที่มักจะใช้รูปทรงเรขาคณิตในงานออกแบบ มีผิวสัมผัสที่มันเงา เป็นงานออกแบบที่แตกต่างแบบ "ตะโกน" ในสายตาของผู้ที่ผ่านมาพบเห็น

แต่ถ้าอยากจะให้เป็นงานออกแบบที่เรียกว่าเป็น memphis style แบบเต็มรูปแบบเนี่ย สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือจะต้องมีเรื่องของสีสันที่สดใส เป็นแม่สี แดง เหลือง น้ำเงิน ที่จำผสมกันแบบ contrast จัดจ้าน และลวดลายที่ขี้เล่นสนุกสนานเพิ่มเข้ามาด้วย

รวมไปถึงงานพิมพ์ที่ใช้ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์หรืองานออกแบบอื่นๆ ที่มักจะมีการใช้แพทเทิร์นการซ้ำกันของรูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานอยู่ในงานออกแบบ

อารมณ์ประหนึ่งว่า
"รูปทรงอะไรที่มันดูขัดกันเราก็จะจับมันมาอยู่ด้วยกัน"

นอกจากสี หรือรูปทรง แล้ว สุดท้ายความมันวาวของชิ้นงานที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น เกิดจากการเคลือบพื้นผิวภายนอกด้วยลามิเนตและแลคเกอร์นั่นเอง แบบแสงส่องไปโดนมุมไหนของผลิตภัณฑ์ ความวาววับมันจะเด้งใส่ กล้องใส่ตา คุณจนหันไปดูนิดนึงละกัน

Collaboration Creation การจับมือกันเพื่องานสร้างสรรค์ที่สะดุดตา

คาแร็คเตอร์ทั้งหมดที่ทุกคนจดจำและคุ้นชินในงานออกแบบสไตล์ memphis นั้นจะไม่สามารถเกิดจากนักออกแบบแค่เพียงคนเดียวได้อย่างแน่นอน

งานออกแบบที่สนุกสนานแฝงไปด้วยความขี้เล่นนี้เกิดจากการจับมือ collaborate กันครั้งใหญ่ของกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ที่มีความถนัดมากกว่าแค่งานออกแบบ

วิถีแห่งการ collab นี้แอบแฝงความประชดประชันยุคสมัยที่ นักออกแบบจะต้องเป็นดั่งศิลปิน super hero ผู้รอดตาย ในแต่ละ Studio เหมือนลูกฉลามที่ต้องกินกันเองจนเหลือเพียงหนึ่ง ในท้องแม่ แล้วค่อยคลานออกมาลืมตาดูโลก หากใครย้อนกลับไปดู Studio ออกแบบในยุคนั้นคือ รถ 1 รุ่น หรือ ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้น จะมี designer รุมสเก๊ต แข่งกัน 10 คน แล้วผู้ชนะ มีเพียงหนึ่งเดียวคือ แบบของคน ๆ นั้นได้ถูกผลักดันไปสู่การผลิต ส่วนของคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกเลือก งานของพวกเขาก็เป็นได้แค่สเก๊ตไว้ประดับ archive ของบริษัท

ซึ่งมันเกิดขึ้นเป็นปกติ เรียกได้ว่านักออกแบบบางคนทำงาน 5-10 ปี อาจจะไม่เคยมีงานอะไรของตัวเองเลยที่ได้ส่งไปผลิตและขายจริงในท้องตลาด

งานของ memphis จึงเป็นดั่งงานกลุ่มที่ทำอะไรมาเถอะได้โชว์ให้คนเห้นแน่นอน นอกจาก Sottsass ที่ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นแกนนำในการก่อตั้งกลุ่ม memphis แล้วนั้น ยังมี

  • Barbara Radice นักวิจารณ์ศิลปะและนักข่าว เธอทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Sottsass มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวคิดและส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มออกแบบนี้

  • Marco Zanini และ Aldo Cibic นักออกแบบชาวอิตาลีได้มีส่วนร่วมในการสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของทิศทางและความงามของการออกแบบสไตล์ memphis ในช่วงแรกของการก่อตั้งก่อนจะไปก่อตั้งบริษัทของตัวเอง

  • Michele De Lucchi นักออกแบบชาวอิตาลีที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม memphis “First Chair” คืองานออกแบบ iconic ชิ้นสำคัญของเขา,

  • Martine Bedin นักออกแบบชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเฟอร์นิเจอร์ รวมถึง “Super Lamp” โคมไฟที่หน้าตาไม่เหมือนใคร,

  • George Sowden นักออกแบบชาวอังกฤษ ที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์และมีสีสัน ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเขาคือ “Palace Chair” และ “D’Antibes Cabinet”

  • Nathalie Du Pasquier จิตรกรและนักออกแบบชาวฝรั่งเศสที่ออกแบบสิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์ที่มีแพทเทิร์นที่โดดเด่น

    สมาชิกที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเคลื่อนไหวทางความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น

What the shape of the object could be

นอกจาก exhibition ของ memphis ที่เกิดขึ้นแล้ว ในช่วงยุค 1980s แนวความคิดของ memphis ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ consumer electronic

จากเดิมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ มักจะถูกออกแบบโดยมีส่วนประกอบของ component และ สายไฟต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ภายในผลิตภัณฑ์ แต่หลัง ๆ component เหล่านั้นมันเริ่มถูกจับยัดลงไปบนแผ่นวงจรพิมพ์ (pcb) ที่สามารถรวมทุกอย่างเอาไว้ได้ในแผ่นเดียว กระทัดลัด ลดความซับซ้อน และสายไฟก็หายไป

ทำให้การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของ อุปกรณ์ไฟฟ้า เริ่มมีข้อจำกัดที่น้อยลง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเท่านั้น ตาม component และสายไฟที่เคยมี

ที่สำคัญคือไม่มีข้อจำกัดทางด้าน ergonomics ก็เริ่มน้อยลงด้วย เพราะเมื่อสายไฟลดลง component หายไป คนก็เริ่มไปยุ่งกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นน้อยลง อุปกรณ์มากมายเกิดมาเพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ไปควบคุมด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น wifi router ที่ถ้าเนทไม่ตกคงไม่มีมนุษย์คนไหนจะไปพยายามควานหาปุ่ม reset ให้เสียเวลา

วัตถุประสงค์ของการออกแบบ อุปกรณ์ไฟฟ้า จึงมีหน้าที่หลักเป็นการแค่หุ้ม (cover หรือ enclouser) แผ่น pcb เท่านั้น!

เมื่อทุกอย่างถูกเอาออกจากสมการ การสื่อสารในแบบเดิมๆที่ form ต้อง follow function มันเลยเริ่มสับสน เพราะมันดันไม่มี function ให้ follow ซะงั้นกับอุปกรณ์ electronic นักออกแบบมากมายเลยเอาวะ!!! ลองเล่นอะไรบ้า ๆ ให้หน่อยไหน ๆ ลูกค้ามาจ้างแล้ว ไม่งั้นจะให้ส่งอะไรหละ

ยกตัวอย่าง เครื่องตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ (the ansering machine) จากบริษัท frog design ที่ตั้งใจออกแบบให้มีความงามที่สอดคล้องกับการจัดสวนแบบเซน (zen)

ใช่เลย เนื่องจากมันตอบโทรศัพท์ อัตโนมัติ คนอัดเสียงใส่มันทีเดียว แล้วก็ลืมมันไปเลยว่ามีไอเจ้าสิ่งนี้อยู่ในบริษัท ด้วย เอาง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานรับโทรศัพท์ประจำลาออก เจ้าของบริษัทคงไม่รู้เลยว่าไอกล่องนี้ไว้ใช้ทำอะไร แต่เมื่อนักออกแบบได้รับโจทย์มา ก็คงจะหาวิธีสร้างความหมายให้กับเจ้ากล่องนี้ แทนที่จะเป็นกล่องอะไรทื่อ ก็เอาสวน zen มาจับยัดให้ดูมีเรื่องราว ตามแบบฉบับที่ marketing ต้องการ

ซึ่งผลตอบรับที่ได้คือตัวผลิตภัณฑ์มียอดขายที่น้อยมาก แต่เราก็คาดเดาไม่ได้ว่า เป็นเพราะคนไม่ชอบ zen หรือ function มันไม่ได้เป็นที่ปรารถนา หรือราคามันบ้าระห่ำ เพราะบริษัท ต้องเอาค่าออกแบบยัดลงไปในต้นทุน แต่จะยังไงก็ตามก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ จุดกำเนิด form follow emotion ของยุค 80s ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้สร้างมาเพื่อกบฏใด ๆ

เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงยุค 90s form follow emotion ก็เริ่มปรากฎให้เห็นในงานออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ถึงแม้บรรพบุรุษ อย่างเครื่องตอบ โทรศัพท์อัตโนมัตของมันจะล้มไม่เป็นท่า แต่มันได้เริ่มเปิดทางให้นักออกแบบคอมพิวเตอร์เริ่มที่จะกล้าออกแบบรูปลักษณ์ของคอมพิวเตอร์ โดยการเพิ่มสีสันที่หลากหลาย และเริ่มมีการใช้เส้นโค้งเส้นหยัก (squiggle) บนพื้นผิวของพาร์ทบอดี้ของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น ใน style แบบ memphis เพราะกลุ่มนักออกแบบเริ่มมีความคิดว่าอยากจะออกแบบสิ่งที่ทำให้คนอยากจะมีหรือใช้สิ่งนั้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา

memphis is never truly ‘dead’

ทุกคนคงจะไม่ได้ชื่นชอบงานออกแบบสไตล์ memphis ไปซะทั้งหมด ด้วยสไตล์ของงานออกแบบที่เน้นความสนุกสนานขี้เล่น แต่ก็ปฏิเสธตรรกะ เหตุผล งานแสดงของ memphis เองก็ถูกปิดตัวลงและเลิกล้มไปในเวลาไม่ถึง 10 ปี เพราะแทบจะขายอะไรกันไม่ได้เลย ในช่วงที่กำลังเป็นกระแส คนส่วนมากได้แต่ตั้งคำถามว่า เอาไปใช้ไงดี เอาไปวางที่ไหนดี งาน memphis มากมายจึงไม่ต่างอะไรจากของสะสม ของนักสะสมศิลปะ

แต่ปรัชาและความกบฏของ memphis ยังคงส่งต่อมาสู่งานออกแบบใหม่ ๆ ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สี รูปทรงที่สุดโต่ง และ texture ที่ชวนให้ตั้งคำถาม มากมาย โดยเฉพาะช่วง 90s ที่เต็มไปด้วย Emotional design

อย่างการออกแบบ iMac ที่สีสันสุดเจ็บของ Apple ในปี 1998 อ่านบทความ Jonny ive ได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/blog/jonathan-ive-apple

หรือ plastic king อย่าง Karim Rashid ที่เต็มไปด้วยความยียวน ชวนให้คิดต่าง อ่านบทความ Karim Rashid ได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/blog/karim-rashid-

ในปี 2005 งานออกแบบสไตล์ memphis ได้ถูกนำกลับมาจัดแสดงอีกครั้งที่ Los Angeles County Museum Of Art ในชื่อนิทรรศการ “A Survey” เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับเส้นทางการออกแบบของ Sottass หลังจากนั้นเป็นเวลา 1 ปี Sottsass ก็ได้เสียชีวิตลง และหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตความสนใจใน memphis design ก็ได้เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

ในช่วงปี 2011 memphis เริ่มมีอิทธิพลต่อแบรนด์แฟชั่นชั้นนำอย่าง Missoni, Karl Lagerfeld และ Christian Dior และคอลเล็คชั่นจากแบรนด์ชั้นนำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการกลับมาของ Memphis Design ได้รวดเร็วเลยทีเดียว

กว่า 40 ปีนับตั้งแต่สไตล์การออกแบบนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ตอนนี้ memphis ก็ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งด้วยกลิ่นอายแบบ “Less is Bore” ที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ทั้งในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์, ผลิตภัณฑ์, งานกราฟิก ,งานออกแบบภายใน รวมไปถึงงานสถาปัตยกรรม ที่การควาญหาเหตุผลอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ผิดบนงานเหล่านั้น

สามารถติดตามบทความเกี่ยวกับงานออกแบบอื่นได้ที่
: https://www.class-a-solution.com/blog

หรือ

Design (un)known podcast เรื่องราวของงานออกแบบที่น้อยคนนักจะพูดถึง

Spotify : https://open.spotify.com/show/22SiryghDzfwzbX2gptVBf...

youtube : https://youtube.com/playlist...

Next
Next

Frederick Taylor บิดาแห่งการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์