ประสบการณ์เข้าร่วมงานประกวดของ PK (เจ้าของเพจ) บนเวทีระดับประเทศ American Standard Design Award 2022

"เหมือนนักร้องเพลงร็อคที่ขึ้นประกวดเวทีไมค์ทองคำ เหมือนเชฟครัวอิตาลีที่ต้องมาจับครกตำส้มตำ.."

คือความรู้สึกแรกหลังจากที่ Mairilyn (ผู้เขียน) ได้ทราบว่า PK (เจ้าของเพจ) ได้เข้าร่วมประกวดงาน American Standard Design Award ปี 2022

ประเด็นคือ งานที่ว่านี้เป็นเวทีประกวดงาน Interior Design ในขณะที่ PK ทำงานในสาย Industrial / Product Design และถึงแม้จะมีคำว่า Design เหมือนกันตรงท้ายชื่อ แต่เนื้องานจริง ๆ นั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง..

คือเราคงไม่พาสุนัขไปหา 'ทันตแพทย์' หรือเราคงไม่ไปถอนฟันกับ 'สัตว์แพทย์' เพียงเพราะข้างหลังมีคำว่าแพทย์เหมือนกัน ฉันใด

ในวงการออกแบบ Design ทุกสาขาก็มีความถนัด, ความเชี่ยวชาญ หรือเส้นแบ่งของเนื้องานที่ไม่สามารถข้ามผ่านกันได้ ฉันนั้น

นี่ไม่ใช่การ 'ท้าทาย' ขอบเขตเส้นแบ่งของเนื้องานแต่อย่างใด !! แต่เป็นความเข้าใจผิดล้วน ๆ ของ PK ที่ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดงานครั้งนี้ เพราะเขาเข้าใจว่าเวทีนี้เป็นเวทีประกวดงาน Product Design !!

 

วันนี้ Class A Solution เขิน (-////-) นิดหน่อยที่จะนำเสนอประสบการณ์ 'ผิดที่ผิดทาง' ของ PK (เจ้าของเพจ) บนเวทีประกวดงานออกแบบระดับประเทศอย่าง American Standard Design Award ปี 2022

 

อะไรจะเกิดขึ้นหากเราแก้โจทย์ Interior ด้วยมุมมองแบบ Product Designer แบบจัดหนักจัดเต็ม !! เรื่องราวจะเป็นเช่นไร ขอเชิญทุกท่านร่วมดำดิ่งไปกับเราได้ ณ บัด Now !!

ปล.เขียนเพื่อเล่าสู่กันฟัง มิได้เขียนเพื่ออวยกันเอง หรือโฆษณาแฝงแต่ประการใดจริง ๆ นะ (ฮา)

ก่อนเล่าถึงโจทย์ เราอยากแชร์เรื่องการรับรู้ที่มาของงานนี้ก่อนว่า ด้วยความที่ PK อยู่ในสาย Industrial และ Product Design ดังที่กล่าวไป ฉะนั้นจึงมิได้ทราบข่าวงานประกวด American Standard Design Award ปี 2022 (ASDA) ผ่านสื่อโซเชียล หรือช่องทางออนไลน์ใด ๆ เลย เพราะ Target ที่ทาง Digital Marketing ของ American Standard เลือกไว้น่าจะเป็นคนที่อยู่ในสายงาน Interior Design ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานประกวดมากกว่า

เรื่องราวคงจะผ่านไปถ้าไม่เพียงแต่น้องในออฟฟิศคนหนึ่งได้พูดถึงงานประกวดนี้ และด้วยความที่ PK เห็นชื่อ American Standard แบรนด์สุขภัณฑ์ชั้นนำ เขาจึงเข้าใจไปเองทันที หรือที่เรียกว่ามโน.. และตัดสินใจเข้าร่วมงานประกวดครั้งนี้เพราะเขาเข้าใจว่าเวทีนี้เป็นเวทีประกวดงาน Product Design !!

โดยไม่เฉลียวใจสักนิดว่า 'แท้จริง' แล้วนี่เป็นเวทีประกวดงาน Interior Design ที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับตนเองเลย..

"Purposeful Design - Transforming the Way We Live หรือการออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมายที่พร้อมเปลี่ยนชีวิต"

คือธีมงานแข่งขัน ASDA ปี 2022

โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  1. Residential

  2. Hospitality (ประเภทที่ PK ส่งประกวด)

โจทย์คือ : ให้ออกแบบ 'ห้องน้ำ' ในบูทีคโฮเทลหรือรีสอร์ท โดยนำโถสุขภัณฑ์ Studio S มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในงานออกแบบ
เพื่อให้ตอบโจทย์ : วิถีชีวิตยุค New Normal
ภายใต้แนวคิด : Health & Well-Being (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี)


แน่นอนว่าเมื่อ Studio S เป็นหัวใจหลักของโจทย์การออกแบบห้องน้ำนี้ ดังนั้นเราต้องเข้าใจจุดเด่น หรือ Character เพื่อให้สามารถออกแบบได้สอดคล้อง

โดย Studio S ประกอบด้วยโถสุขภัณฑ์เรียบหรูแบบ 'ไร้ถังพักน้ำ' เพียงชิ้นเดียว และอ่างล้างหน้าแบบฝังบนเคาน์เตอร์ ดีไซน์ทรงรี ให้ความรู้สึกโมเดิร์น ซึ่ง PK มองว่าการ 'ไร้ถังพักน้ำ' ถือเป็นข้อดี และจุดเด่นสำคัญ ในเชิงการใช้งานของ User เพราะโถสุขภัณฑ์สามารถอยู่ติดผนังได้ โดยไม่ทำให้เกิดช่องว่าง หรือมุมอับตรงพื้นที่ด้านล่าง เหมือนโถสุขภัณฑ์แบบมีถังพักน้ำทั่วไป ซึ่งมักเป็นแหล่งรวมฝุ่น, เชื้อรา, เชื้อโรค และคราบสกปรกต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ยากต่อการทำความสะอาด ผนวกกับการตีความ 'วิถีชีวิต' ในยุค New Normal ที่ผู้คนใช้เวลาทำกิจกรรมในห้องน้ำยาวนานขึ้น

โดยกิจกรรมหลักในห้องน้ำ ไม่ใช่การปลดทุกข์ แต่เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้ไถ 'มือถือ'

ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงโปรด, อ่านคอนเทนต์, เล่นเกมส์, หรือดูคลิปหมาแมวผ่าน Tiktok

แน่นอนว่าเมื่อ 'พฤติกรรม' การใช้ห้องน้ำเปลี่ยนไป การตอบสนองหรือการออกแบบห้องน้ำ ย่อมต้องเปลี่ยนตาม โดย Function หนึ่งที่ขาดหายไป Function หนึ่งที่การออกแบบห้องน้ำในปัจจุบัน มักลืมตอบสนอง

นั้นคือ ที่วางมือถือ

"จะดีแค่ไหนหากเราเข้าห้องน้ำปลดทุกข์ เล่นมือถือเสร็จ แล้วไม่ต้องยัดมือถือใส่กระเป๋ากางเกง, เอี้ยวตัวไปวางที่ถังพักน้ำ, หรือวางไว้บนอ่างล้างหน้าที่มักเจิ่งนองไปด้วยน้ำ"

Flex A Modular Bathroom System คือ Concept และคำตอบของ PK ต่อพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำ ในยุคสมัยนี้

ที่ทำให้คุณสามารถวาง 'ความสุข' ไว้ข้างตัว

ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, หนังสือ, กระถางต้นไม้, โถเลี้ยงปลา, ที่ชาร์จไร้สาย, หรืออื่น ๆ บน Product Furniture สำหรับห้องน้ำที่ถูกออกแบบมา เพื่อวางโดยเฉพาะ พร้อมพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ห้องน้ำ ด้วยดีไซน์ที่กลมกลืน, สอดคล้อง และแนบสนิทไปกับโถสุขภัณฑ์ Studio S ประหนึ่งเป็นชุด Furniture ที่เกิดมาเพื่อกัน สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานในห้องน้ำตามใจชอบด้วย Design รูปแบบ Modular Sytem เหมาะอย่างยิ่งสำหรับบูทีคโฮเทล และรีสอร์ท ให้สนุกไปกับการตกแต่งพร้อมช่วยประหยัดงบประมาณโดยการ Custom หน้าตาของผลิตภัณฑ์นี้ให้เข้ากับ Theme ตกแต่งในแต่ละ Season ได้ง่าย เพื่อให้คุณไม่ถูกจำกัด 'จินตนาการ' ไว้กับชุด Furniture ห้องน้ำแบบตายตัว ที่ยากต่อการปรับเปลี่ยน, ตกแต่ง, และถูกติดตั้งไว้อย่างเป็นนิรันดร์ เอื้อต่อพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำยุคใหม่ และอนาคตที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

Flex คือ

Product Furniture สำหรับห้องน้ำ ที่พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมจุดเด่นการใช้งาน ดุจดั่งการเฉลิมฉลองสุขภัณฑ์ Studio S ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุค New Normal ได้อย่างแท้จริง ในแง่ของจุดมุ่งหมายสิ่งที่ PK วิเคราะห์ ตั้งสมมติฐานและออกแบบมา ถือว่าตอบโจทย์ได้ดี เพียงแต่.. สิ่งเดียวที่ PK ลืม.. คือโจทย์เขาให้ออกแบบ 'ห้องน้ำ'

มิใช่ออกแบบ Product ที่อยู่ภายใน 'ห้องน้ำ' (ฮา)

แน่นอนว่าการออกแบบ 'ห้องน้ำ' หมายถึงการตกแต่ง จัดการพื้นที่ใช้สอย และออกแบบงานระบบต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้องน้ำซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของ Interior Designer ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญเฉพาะในการจัดการ 'Function พื้นที่ภายใน' ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ห้อง

แต่ Interior Designer ที่ดีจะร่วมค้นหาและตอบโจทย์ความต้องการ Function ลึก ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้พื้นที่ 'ภายในใจ' ของ User ด้วย

เคยได้ยินคำว่า Human Scale ไหม ?

Human Scale คือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่อาศัยฐานข้อมูลค่าเฉลี่ยขนาด 'สัดส่วนของมนุษย์' ในแต่ละกลุ่มเพื่อตอบโจทย์ Function การใช้งานของมนุษย์ต่อพื้นที่ต่าง ๆ ให้สัมพันธ์ และเหมาะสม

ยกตัวอย่าง Classic Case กรณีความตึงคอ, บ่า, ไหล่, และหลังของ 'มนุษย์ออฟฟิศ' ส่วนใหญ่เกิดจากความ 'สัมพันธ์' ของขนาดความสูงโต๊ะ, เก้าอี้, รวมถึงหน้าจอ ที่ Human Scale ไม่เอื้อให้เกิดท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง เหมาะสมยังไม่นับรวมหัวข้อ Vibe หรือ 'บรรยากาศ' ที่เกิดจาก Mood & Tone การตกแต่ง และจัดการพื้นที่ภายใน ที่ส่งผลอย่างยิ่ง ต่อความรู้สึกต่าง ๆ ของมนุษย์

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่ง ของความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ Interior Designer ใช้ในการออกแบบพื้นที่ภายใน ห้อง และตอบโจทย์พื้นที่ 'ภายในใจ' เพื่อให้สภาพแวดล้อมภายใน ตอบโจทย์วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ

แน่นอนว่า Architects ก็มีความรู้ และความเข้าใจเฉพาะในเรื่อง Human Scale หรือ Vibe เช่นกัน

เพียงแต่.. ด้วยเนื้องานที่ Architects ต้องเผชิญทั้งการออกแบบ 'โครงสร้าง' ภายนอกและในตัวอาคาร โดยต้องคำนึงถึงการรับแรง รวมถึงสภาพแวดล้อม ให้มีความสอดคล้องเหมาะสม
เท่านี้ก็สมองบวม เอ้ย 'หนักหนา' มากพอแล้ว..

ดังนั้นพูดให้ง่าย 'หน้าที่โดยตรง' ในการออกแบบห้องน้ำ ห้องหนึ่งนั้น

Architects มีหน้าที่ออกแบบ 'โครงสร้าง' ของ ห้องน้ำ
Interior Designer มีหน้าที่ออกแบบตกแต่ง และจัดการ 'Function พื้นที่ภายใน' ห้องน้ำ
Product Designer มีหน้าที่ออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ภายใน ห้องน้ำ

แน่นอนว่า เราคงไม่พาสุนัขไปหา 'ทันตแพทย์' หรือเราคงไม่ไปถอนฟันกับ 'สัตว์แพทย์' เพียงเพราะข้างหลังมีคำว่าแพทย์เหมือนกัน ฉันใด ในวงการออกแบบ Design ทุกสาขาก็มีความถนัด, ความ 'เชี่ยวชาญเฉพาะ' หรือเส้นแบ่งของเนื้องานที่ไม่สามารถข้ามผ่านกันได้ ฉันนั้น

และหากถามว่าแล้ว Architects สามารถออกแบบตกแต่ง และจัดการพื้นที่ภายใน 'ห้องน้ำ' ได้ไหม ?

ก็คงไม่ต่างอะไรกับการถามว่า
"เราใช้ ส้อม ตักอาหารได้ไหม ?"

แน่นอนว่า ได้

เพียงแต่.. ถ้าคุณมีช้อนให้ใช้
แล้วคุณจะฝืนใช้ 'ส้อม' ตักอาหาร ไปเพื่ออะไร ?

"กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง.."
คือความรู้สึกของ PK ที่เพิ่งรู้ตัวว่าเขาทำ ผิดโจทย์ !!

หลังจากออกแบบผลงานประกวดจนแล้วเสร็จ และต้องตอบ 'คำถาม' ในขั้นตอนการส่ง (ฮา)

โดยตัวอย่าง 'คำถาม' มีดังต่อไปนี้"

Plan หรือ Flow ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ 'ห้องน้ำ' เป็นอย่างไร ?"

ซึ่ง PK ได้แต่คิดว่า "คุณถามผิดคนแล้ว.."

แม้คำถามเหล่านี้คือคำถามที่ Interior Designer หรือ Architects พึงตอบได้ แต่ไม่ใช่กับ Industrial หรือ Product Designer อย่าง PK แน่นอน !! และความผิดโจทย์นี้ ยิ่งถูกตอกย้ำเข้าไปอีก เมื่อ PK พึ่งสังเกตเห็นรายชื่อคณะกรรมการผู้ตัดสินงาน อาทิ

IDIN Architects, Architects 49, PIA Interior, P49 Deesign & Associates, Dsign Something รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก LIXIL (ลิกซิล) ประเทศไทย

รายชื่อเหล่านี้ คือสุดยอด คือตำนาน และคือที่สุดแห่งวงการ Interior & Architecture ในประเทศไทย !! ที่เรียกได้ว่าต่อให้ไม่อยู่ในวงการ เพียงคุณทำงานในแวดวงออกแบบ ก็ต้องเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมาบ้าง

ในสถานการณ์นี้ มันเหมือน PK กำลังใส่กางเกงหนังรัดรูปสีดำ, เสื้อสีดำ, ไว้ผมยาวถึงกลางหลังเตรียมขึ้นประกวดร้องเพลง บนเวที Rock ในขณะที่คนอื่นใส่เสื้อสูทปักดิ้นเลื่อมพราย พร้อมไมค์ผูกผ้า 3 สี แน่นอนว่า ต้องมี 'เอ๊ะ' กันบ้างแหละ !! แล้วยิ่งพอขึ้นเวทีไปเจอครูสลา, อาโน๊ต เชิญยิ้ม, และพี่สุ (สุนารี ราชสีมา) เขาก็ยิ่งมั่นใจได้เลยว่า เขามาผิดเวทีแล้ว !!

แต่ประเด็นคือ PK ออกแบบงานจนเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว !! และสมมุติถ้ามาถึงจุดนั้นจริง ๆ เป็นคุณ คุณจะไม่ร้องสักเพลงเหรอ !?

PK จึงส่งงานไปโดยมิได้คาดหวังเรื่องเข้ารอบใด ๆ พร้อมกับการตอบคำถามเชิง Interior ที่เรียกได้ว่าสีข้างถลอกกันไปแถบหนึ่ง !!

"ยินดีด้วยคุณได้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย"
คือข้อความใน Email ที่ PK ได้รับจากผู้จัดงาน

โดยงานนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 50 ผลงาน และด่านต่อไปที่รอ PK อยู่ คือการ Present งานต่อหน้าคณะกรรมการผ่านโปรแกรม Zoom !!

ตัดภาพมาวัน Present
กว่า 20 ชีวิตต่อหน้า PK คือบรรดาสุดยอดผู้ทรงคุณวุฒิแห่งวงการ Interior และ Architecture !! ซึ่ง PK ก็ Present งาน Product ไป !? ก่อนที่กรรมการจะถามคำถามเชิง Interior กลับมา.. ท่ามกลางคณะกรรมการที่ดูงง ๆ กับคำตอบ สลับความเงียบชั่วคราว ที่เหมือนจะบอกว่า "พ่อหนุ่มเอ้ย.. เอ็งมาจากไหนกัน"

จนกระทั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง ได้กล่าวขึ้นท่ามกลางความเงียบว่า.. "ผมขอพูดตรง ๆ เลยนะ"
.
.

"งานคุณมัน 'ว้าว' มาก"
"ถ้าไม่ได้ลอกใครมา งานของคุณตอบโจทย์จริง ๆ"

โดยผู้ทรงคุณวุฒิท่านนั้นให้เหตุผลว่า จากข้อมูลงานวิจัยผู้คนในยุค New Normal ใช้ห้องน้ำนานขึ้นจริงโดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ คนละ 20 นาที !! นั่นแปลว่าการวิเคราะห์ สมมุติฐาน และงานออกแบบของ PK ถูกต้อง !! และตอบสนองต่อพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำ ในยุคสมัยนี้จริง ๆ

ซึ่งท้ายที่สุด ผลปรากฏออกมาว่า
.
.
PK ได้รางวัลที่ 2

ในขณะที่รางวัลที่ 1 ตกเป็นของคนในสาย Architect
.
.
อยากให้เข้าใจตรงนี้ก่อนว่า เรามิได้เจตนาเขียนเพื่อ ขิง หรือ บลัฟ เพียงแต่เราอยากชวนคุยในเรื่องของ 'มุมมอง' การตอบโจทย์ แน่นอนว่าถ้าเป็นการทำงานจริง Interior Designer คือตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณ ในการออกแบบตกแต่ง และจัดการพื้นที่ใช้งานภายในแต่สำหรับงานประกวดที่ต้องการความสร้างสรรค์ หรือโจทย์ปัญหาจริง ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงตามบริบทใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ความกล้าหาญ ที่พร้อมจะท้าทายโจทย์ปัญหาใหม่ ด้วย 'มุมมอง' ที่แตกต่าง

การ 'คิดผิด' ที่ต่างไปจากแนวทางที่ถูกต้องเดิม ๆ อาจเป็นหนทางสู่คำตอบใหม่ ที่คุณและโลกกำลังตามหาอยู่ ก็เป็นได้
.
.
"If You​ want your​ team to​ create Innovation, You​ need to​ allow them to​ make​ silly mistakes to​ make​ silly​ suggestions and​ You​ don't laugh At​ them"
"ถ้าคุณอยากให้ทีมสรรค์สร้าง 'นวัตกรรม​' จงอนุญาตให้พวกเขาผิดพลาด หรือแสดงความคิดเห็นโง่​ ๆ​ ออกมาได้ โดยคุณห้ามหัวเราะพวกเขา"

.
.
ขอสารภาพว่าตอนที่ PK (เจ้าของเพจ) แชร์เรื่องนี้ให้ฟัง Mairilyn (ผู้เขียน) ก็ได้หัวเราะไปแล้ว (ฮา) กับความ 'มึน' ของ PK
.
.
เพียงแต่.. หากมองให้ดี สิ่งที่ PK ทำกับงานประกวดครั้งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่
Sir James​ Dyson​ สุดยอดนักออกแบบ​ / นักประดิษฐ์ /วิศวกร เจ้าแห่ง​ Innovation​ เคยกล่าวไว้


ส่วนใครอยากชมผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 เชิญคลิกที่ลิงค์นี้

https://asda.americanstandard-apac.com/th/winners/ASDA22-70354?prize=1st%20Prize&country=thailand&cat=hospitality
https://asda.americanstandard-apac.com/th/winners/ASDA22-70370?prize=2nd%20Prize&country=thailand&cat=hospitality

หัวข้อสุดท้าย : Simplicity Not Simplistic

ผู้เขียน : PK

ในโลกนี้มีเส้นบาง ๆ ที่แยกความ ‘เรียบง่าย’ กับความ ‘มักง่าย’ ออกจากกัน
การที่ Form เรียบง่ายไม่ได้หมายถึงความ 'หรูหรา่ เพียงอย่างเดียว แต่คุณค่าแท้จริง คือเหตุและผลที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายนั้น ในทุกอณูของรายละเอียดผ่านการขบคิดหลายชั้น

ยกตัวอย่างเช่นความแตกต่างเพียง 'เล็กน้อย' ระหว่างการเลือกที่จะใช้เส้นตรง หรือเส้นโค้งในลักษณะเว้า (Concave) ตรงตำแหน่งขอบที่นั่ง
ที่ส่งผลต่อ Function และความรู้สึกมหาศาล
.
.
โดยภาพรวม Form ของ Studio S เรียบง่าย เหมือน 'ก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า' ขนาดใหญ่ที่มีด้านหนึ่งเอียง

ปัญหาคือด้วยขนาดความใหญ่ และ Form ที่เรียบง่ายสิ่งที่ตามมามักเป็นความรู้สึกตัน, หนัก, และเทอะทะ หากไม่ได้รับการออกแบบที่ดี โถสุขภัณฑ์ชิ้นนี้อาจกลายเป็นก้อน ๆ หนึ่งที่พอวางในห้องน้ำ แล้วดูขัดตายิ่งนัก..
.
.
ความลึกล้ำอยู่ตรงนี้

วิธีแก้ปัญหา Form ของ Studio S เกิดจากการเลือกใช้เส้นโค้งในลักษณะ 'เว้า' (Concave) แทนที่จะเป็นเส้นตรงทื่อ ๆ ตรงตำแหน่งขอบที่นั่ง (ตามภาพ) ที่นอกจาก Function เพื่อหลบมุมขา ในเวลานั่งทำภารกิจแล้ว การ 'เว้า' นี้ยังส่งผลต่อความรู้สึก ดึงดูดให้สัมผัส ช่วยลดความรู้สึกตัน, หนัก, และเทอะทะ ทำให้ Object ขนาดใหญ่ดูมีความเพรียวบางขึ้น
.
.
ส่วนฝาด้าน Top ดูผิวเผินเหมือนเป็นแผ่นพลาสติกตรง ๆ วางแปะอยู่ แต่แท้จริงแอบซ่อนการเล่น Convex Surface หรือ 'ผิวนูน' ออกเล็กน้อย เพื่อช่วยสร้าง Structure ของชิ้นงาน 'พลาสติก' ให้แข็งแรงขึ้น ไม่ตกท้องช้าง และหากจังหวะ Surface ออกแบบได้พอเหมาะ แสงเงาที่ตกกระทบบนผิวโค้ง จะช่วยเพิ่มมิติของ Product ให้ไม่นิ่ง และแข็งทื่อ ช่วยแก้ปัญหาความรู้สึกหนักของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
.
.
ส่วนขอบด้านข้างของ 'ฝา' พลาสติก ที่ออกแบบให้ล้อและเชื่อมต่อมาจากเส้นของ Form หลักของตัวโถสุขภัณฑ์ นอกจากทำให้ Form ดูมีความเรียบแบบคิดมาอย่างดีแล้ว (ไม่ใช่เป็นการแค่กดปุ่ม Extrude สร้าง Form บน CAD File แบบขอไปที) ยังได้ของแถมเป็นพื้นที่จับ ที่ช่วยให้เปิดฝาได้ง่ายไม่ว่าจะจับบริเวณไหนของฝาก็ตาม
.
.
แน่นอนว่าการจะได้มาซึ่งรายละเอียดของ Form นี้ต้องผ่านการพัฒนาในส่วนของ Form ไปพร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาเรื่องการผลิต เพื่อให้ได้ Result Minimal โดยที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นสัมพันธ์กันอย่างมี 'กลยุทธ' และไม่ฉาบฉวย แบบที่ทำให้เรียบ ๆ ไว้ก่อนเดี๋ยวก็หรูเอง !!

วิเคราะห์ Studio S : PK

Studio S ถูกออกแบบมาให้เรียบง่ายด้วยการเป็น สุขภัณฑ์ที่มีฟอร์มเพียงชิ้นเดียว โดยจุดเด่นอยู่ที่การ ‘ไร้ถังพักน้ำ’ ด้วยเทคโนโลยี PowerFlo

แน่นอนว่าโถสุขภัณฑ์แบบไร้ถังพักน้ำเป็น Technology ที่มีมานานแล้ว (ไม่ได้ใหม่) แต่สิ่งที่พิเศษของ PowerFlo คือ ‘ไม่ใช้ไฟฟ้า’ แต่ใช้ระบบวาวควบคุมการไหลของน้ำ 4.5 ลิตรหมุนเวียนในท่อ และใช้แรงดันที่เหมาะสมเพื่อกำจัดของเสีย แถมติดตั้งง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องเจาะผนังฝังสายไฟเพื่อเลี้ยงปั๊มน้ำ เหมือนโถสุขภัณฑ์ไร้ถังพักน้ำรุ่นเก่า

จากใจ : PK

หลังงานประกวดผ่านพ้นไปแบบงง ๆ ฮา ๆ ผม (PK) ในฐานะผู้เคยประกวดงานออกแบบทั้งไทย และต่างประเทศมาตลอด 10 ปี ต้องยอมรับว่า ASDA เป็นงานประกวดที่มีคุณภาพงานหนึ่ง ที่เปิดโอกาส, ไม่ปิดกั้น, และดูแลผู้เข้าร่วมงานประกวดทุกคนเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มประกวดจนไปถึงเข้ารับรางวัล การปฏิบัติกับผู้เข้าประกวดอย่างมืออาชีพ (ไม่ได้มองว่าผู้ประกวดจะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเงินแบบบางงาน) และเปิดโอกาสดี ๆ ให้ผู้เข้าประกวดได้ Networking กับมืออาชีพระดับ Top ในวงการออกแบบโดยไม่ปิดกั้น ผ่านงานจัดเลี้ยงในวันรับรางวัล ให้ผู้ชนะการประกวดได้นั่งคุยกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการ ที่เรียกได้ว่าคุ้มกว่าเงินรางวัลแน่นอน !!

ทั้งหมดนี้ต้องเกิดจากความเข้าใจ และจริงใจของทีมงาน ที่ต้องการสร้างงานประกวดที่มี 'คุณค่า'
และสร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย ให้กับทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ได้เพียงจัดเพื่อเป็นกิจกรรมทางการตลาดแล้วจบ ๆ กันไป

นอกจากนี้การ ‘ไร้ถังพักน้ำ’ ยังซ่อนความลึกล้ำในมุม Product Design ไว้ ดังนี้

“อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีถังพักน้ำ”

  1. ลดวัสดุการผลิต
    โถสุขภัณฑ์แบบเดิม นอกจากต้องเปิดแม่พิมพ์ 'ที่นั่ง' แล้วยังต้องทำตัว ‘ถังพักน้ำ’ อีกหนึ่งแม่พิมพ์ การทำให้ถังพักน้ำขนาด 4-6 ลิตรหายไปของ Studio S ทำให้ลดจำนวนวัสดุ หรือดินที่ใช้ในการขึ้นเป็นตัวถังได้มหาศาล และช่วยลดพลังงานที่ใช้สร้างความร้อน เพื่ออบชิ้นส่วนถังให้แข็งตัวจนกลายเป็น ‘เซรามิค’ แน่นอนว่าในกระบวนการนี้ไม่ได้เป็นต้นทุนที่แพงขนาดนั้น เมื่อเทียบกับการขึ้นรูปด้วยวิธีฉีด 'พลาสติก'

  2. ลดภาระโรงงานผลิต
    เซรามิคเป็นวัสดุที่แข็งเหมือนแก้ว ดังนั้นความแข็งจะตามมาด้วยความ 'เปราะ' การขนย้ายชิ้นส่วนในโรงงานต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวังในทุกจุด การที่จะรักษาผิวของชิ้นงานให้ขาวมันวาวเหมือนใหม่จนถึงมือผู้บริโภคนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ลอยขีดข่วน เพียงเส้นเดียวจะทำให้ถังนั้นกลายเป็น 'ขยะ' ภายในพริบตา !! เพราะไม่มีลูกค้าคนไหนยอมจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีรอยขีดข่วน แน่นอนว่าการลดชิ้นส่วนขนาดใหญ่ไปได้หนึ่งอัน ถือว่า Win พอสมควรในมุมของผู้ผลิต

  3. ลดภาระการขนส่ง
    ลองจินตนาการว่า 'รูปทรง' ของโถสุขภัณฑ์แบบเดิมที่มีถังพักน้ำ จะมีทรงเป็นรูปตัว L ทำให้การขนส่งสามารถเกิดปัญหาได้ หากมีการ Pack ตัวโถสุขภัณฑ์ในลักษณะที่ประกอบมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม้โดยมากผู้ผลิตจะ Pack ถังแยกจากที่นั่ง เพื่อลดภาระการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตไปสู่ผู้ขาย แล้วให้คนติดตั้งมาประกอบเองที่ปลายทางแต่พอถังหายไปทำให้ผู้ขายไม่ต้องมา 'ลุ้น' ว่าต้องหาวิธี Manage Stock หรือหาวิธีจัดเก็บภายหลัง

  4. ลดภาระการดูแลความสะอาด
    โดยทั่วไปสิ่งที่มากับ 'ถังพักน้ำ' คือช่องว่างใต้ถัง ซึ่งเป็นจุดที่เข้าไปทำความสะอาดได้ยาก.. ยากมาก ๆ เพราะเป็นพื้นที่ 'แคบ' ทำให้อุปกรณ์ทำความสะอาดไม่สามารถทำหน้าที่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ คือมือ และผ้าของคุณที่จะต้องเข้าไปล้วงควักเอาฝุ่น, คราบสกปรก, หรือขุดเอาเชื้อรา !! ที่ฝังตามรอยข้อต่อต่าง ๆ ในพื้นที่บริเวณนั้นสะสมไว้ออกมา การดูแลพื้นที่ใต้ถังจัดว่าเป็น Job ที่เพิ่มเข้ามาแบบไม่รู้ตัวกับการมีโถสุขภัณฑ์แบบมีถังพักน้ำ

Previous
Previous

การเดินทางของฝุ่น part 1 จาก DA001 สู่ DC16

Next
Next

James Dyson (part 2) 7 ขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ Innovation ของสุดยอดนักออกแบบผู้บดขยี้ Pain Point ให้เป็นผุยผง