การเดินทางของฝุ่น part 1 จาก DA001 สู่ DC16

การเดินทางของฝุ่น part 1

จาก DA001 (1991) สู่ DC16 (2006)15 ปีแห่งการพัฒนาเครื่องดูดฝุ่น ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่โลกเคยมี

  • อะไรจะเกิดขึ้น หากเราไม่หยุดพัฒนาสิ่งที่ทำ

  • พอสำเร็จก็หยุดพัฒนาต่อ

  • เราจะพัฒนาต่อไปทำไม

  • เราจะดีขึ้น กว่านี้ได้อย่างไร

ขอเริ่มบทความด้วย ทำไมต้องดูดฝุ่น??

ก่อนจะเล่าถึง 31 ปี แห่งการเดินทางของเครื่องดูดฝุ่นจาก DA01 ที่ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1991 ถึง DYSON V15 รุ่นปัจจุบัน (2022) เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปทราบที่มา และความสำคัญของการมีเครื่องดูดฝุ่นกันก่อน

เครื่องดูดฝุ่นถือเป็นผลิตภัณฑ์แห่งเมืองหนาว จุดเริ่มต้นของมันเกิดจากการที่ผู้คนในประเทศเหล่านั้น ต้องการทำความสะอาด “พรมปูพื้น” ลองจินตนาการว่า หากคุณตื่นมาตอนเช้ามืดในฤดูที่หิมะโหมกระหนํ่า แล้วสัมผัสแรกที่เท้าของคุณได้สัมผัส หลังลุกจากเตียงนอนที่แสนอบอุ่นนุ่มฟู คือพื้นปูน หรือพื้นไม้ที่เย็นเฉียบ ดุจดั่งใช้เท้าเปล่าเปลือยเหยียบยํ่าบนผืนแผ่นนํ้าแข็ง – คุณจะรู้สึกอย่างไร ?

นี่คือที่มาและความสำคัญ ที่ทำให้ทุกบ้านในโซนหนาวจำเป็นต้องมีผืนพรมใหญ่หนานุ่ม ประกอบอยู่บนพื้นในแทบทุก ๆ บ้าน ประเด็นคือเมื่อมีพรม “ฝุ่น” จำนวนมหาศาลก็ตามมา ด้วยเส้นใยของพรมที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ฝุ่นจะสะสมฝังแน่น ลงลึก จนแทบนึกไม่ออกเลยว่า จะแงะฝุ่นออกจากพรมเพื่อให้มันสะอาดได้อย่างไร ?

แน่นอนว่าปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหา สำหรับคนในประเทศเมืองร้อนอย่างเราที่พื้นส่วนใหญ่ในบ้าน เป็น Hard Floor ที่แค่ใช้ไม้กวาด + ผ้าถูพื้น ก็เอาฝุ่นออกจากพื้นได้อย่างเกลี้ยงเกลา

แต่ฝุ่นในพรมนี้เป็นปัญหา และเป็น Pain Point สำคัญ ที่อยู่ในใจแม่บ้านทุกคนที่ต้องทำความสะอาดมัน

คงจะดีไม่น้อยหากเรามีคาถา หรือ “เวทมนต์” บางอย่างที่จะเป่าให้ฝุ่นในพรมหายไป กระทั่งในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ความปรารถนานั้นก็เป็นจริง เพียงแต่ผู้ที่ทำสำเร็จไม่ใช่พ่อมด หรือแม่มด แต่พวกเขาเหล่านั้นถูกเรียกว่า นักประดิษฐ์

ในปี 1908 นักประดิษฐ์คนหนึ่ง ได้ใช้เวทมนต์ในการ ควบคุมลม ผสมไม้กวาด จนเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “ไม้กวาดพลังดูด” หรือที่เราเรียกกันว่าเครื่องดูดฝุ่นในปัจจุบัน ที่มีชื่อว่า “Hoover O”

แม้นี่จะเป็นก้าวสำคัญ ก้าวแรกของมวลมนุษยชาติ ที่เราได้ค้นพบวิธีเอาฝุ่นออกจากพรม เพื่อช่วยให้ชีวิตของคุณแม่บ้านง่ายขึ้น แต่เมื่อเราพอใจ และไม่คิดจะก้าวต่อ เครื่องดูดฝุ่นก็แทบจะไม่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างชัดเจนอีกเลยในช่วง 100 ปีถัดจากนั้น

จนกระทั่งชายคนหนึ่งได้รับไม้ต่อ และได้พาเครื่องดูดฝุ่นสู่ก้าวถัด ๆ ไป จนเรียกได้ว่านี่คือ ช่วงเวลาก้าวกระโดดแห่งวิวัฒนาการเครื่องดูดฝุ่นอย่างแท้จริง และชายที่กำลังทำหน้าที่นั้น คือชายที่ช ื่อว่า James Dyson หรือเจ้าของแบรนด์ Dyson ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

วันนี้ Class A Solution สุดแสนภูมิใจจะนำเสนอ เรื่องราวของนักออกแบบ/นักประดิษฐ์/วิศวกรผู้เป็นตำนาน เจ้าของแบรนด์เครื่องดูดฝุ่น ผู้พิชิตโจทย์สำคัญที่กว่า 100 ปี ไม่มีใครทำได้ (หรือไม่สนใจจะทำ) และกำลังพัฒนามันต่ออย่างไม่หยุดยั้ง

 

ผู้คิดค้นนวัตกรรมพัดลมไร้ใบ และผู้สรรค์สร้างเครื่องเป่าผม Dyson ที่สาว ๆ ทุกคนใฝ่ฝันจะมีไว้ครอบครอง

 

ขอเชิญพบกับ James Dyson นักออกแบบผู้บดขยี้ Pain Point ให้เป็นผุยผง ก่อนดูดลงไปในเครื่องดูดฝุ่น !! ผู้เป็นที่สุดแห่งการแก้ปัญหาด้วย Innovation เรื่องราวจะเป็นอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเขา ไม่หยุดพัฒนาขอเชิญทุกท่านร่วมดำดิ่งไปกับเราได้ ณ บัด Now !!


ส่วนใครยังไม่รู้จัก Dyson​ เชิญอ่าน​ Part 1 และ 2 ก่อนได้ที่ลิงค์นี้

https://www.class-a-solution.com/blog

Dyson พบว่าเครื่องดูดฝุ่นแบบถุงผ้ามันไม่ Make sense ซะแล้ว ตันเร็ว ประสิทธิภาพลดลงทุกครั้งที่ใช้งาน จนทำให้ Dyson ถึงกับ หงุดหงิด และลงมือหาวิธี พัฒนาเครื่องดูดฝุ่นในแบบที่โลกไม่เคยคิดมาก่อน


Dyson สรุปคุณสมบัติของเครื่องดูดฝุ่นก่อนเริ่มพัฒนา R&D ว่าต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลัก ๆ 3 อย่าง

  1. ความสามารถในการขุดคุ้ยฝุ่นออกจากพรม และวัตถุต่าง ๆ

  2. ความสามารถในการย้ายฝุ่นที่คุ้ยออกมาสู่ถังเก็บ โดยไม่ปล่อยให้ฝุ่นจิ๋ว(PM 2.5) หลุดกลับคืนสู่บรรยากาศ

  3. ความสามารถที่ทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกทำสองข้อข้างบนได้อย่างง่ายดาย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด



ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนา Technology ที่ทั้งตั้งใจ และไม่ตั้งใจของ Dyson ที่ช่วยกันเข็นฝุ่นจากเครื่อง DC-01 มาจนถึง V12 (ปี 2022) แบบที่เรียกได้ว่านี่มันคือ เทคโนโลยีจากต่างดาว ที่เราจะสรุปให้ฟัง ในช่วงแรกของการพัฒนา Dyson เริ่มต้นจาก Technology “Dual Cyclone” (DC)

ที่คิดค้นมาตั้งแต่ปี 80s แน่นอนว่า หน้าที่หลัก ๆ ของ Dual Cyclone คือ การย้ายฝุ่นที่ถูกขุดออกจากพรม ให้ไปอยู่ในถังพลาสติก แทนถุงผ้า เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน และเมื่อไม่อุดตัน เครื่องดูดฝุ่นก็จะไม่ “สูญเสียแรงดูด”

สิ่งนี้ทำให้ชีวิตของคุณแม่บ้านทั้งหลายในยุคนั้น ง่ายขึ้น พร้อมทั้งประหยัดเวลา และเหนื่อยน้อยลง เพราะไม่ต้องคอยดูดฝุ่น พลางถอดถุงผ้าเก็บฝุ่นที่อุดตันไปสะบัด แล้วกลับมาดูดต่อ

Dual Cyclone จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณภาพในรูปรหัส DC ที่แปะไว้บนเครื่องดูดฝุ่น Dyson เกือบทุกรุ่นตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2010

ในรุ่นแรก DC-01 หรือในอีกชื่อ Pioneer มาพร้อมถังเก็บฝุ่นพลาสติกทรงกรวยควํ่า, แข็งแรง, ทนทาน, ไร้การอุดตัน และมีแรงดูดถึง 90 Air Watts วีรกรรมของ DC-01 ในตอนนั้น คือ ตีตลาด UK แตกกระจุย ชนิดที่ไม่มีเวลาให้คนขายเครื่องดูดฝุ่นแบบถุงผ้าได้ตั้งตัว เคลียร์สต๊อกกันเลย

นี่คือการ Disruption แบบเดียวกับที่ iPhone ทำกับมือถือแบบมีปุ่มกดชีวิตคือการเดินทางไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และเมื่อไหร่ที่เจอ เราก็พร้อมที่จะอ้าแขนยอมรับได้เสมอ

ในระหว่างที่พัฒนา Cyclone สิ่งหนึ่งที่ Dyson ต้องทำ คือ นอกจากต้องเอาฝุ่นออกจากพรมแล้ว เราต้องเอาฝุ่นออกจาก ”ลม” ที่ถูกดูดเข้าไปในเครื่องด้วย เพราะ หากไม่เอาฝุ่นออกจากลม สุดท้ายเมื่อฝุ่นก็จะหมุนวนกลับสู่บรรยากาศห้องเหมือนเช่นเดิม เป็นวงจรฝุ่นแบบไม่วันสิ้นสุด

Dual Cyclone จึงออกแบบโดยการบังคับให้ลมวิ่งเข้าไปในวัตถุทรงกรวย เพื่อที่จะได้

  1. การเพิ่มระยะทางการเดินของลม โดยที่ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ หรือ ปริมาตรของผลิตภัณฑ์ : Dyson ออกแบบให้ถังเก็บฝุ่นมีกรวยควํ่าอยู่ด้านใน คือ มีด้านแหลม อยู่ล่าง และปากกรวย (ด้านกว้าง) อยู่บน และบังคับให้ลมที่มีฝุ่นติดอยู่วิ่งเข้ากรวยจากด้านข้างของปากกรวยในลักษณะตั้งฉากกับเส้นผ่านศูนย์กลาง (ดูรูป) สิ่งนี้ทำให้ลม วิ่งในลักษณะพายุ Cyclone ได้ คือวิ่งวนในทรงกรวยจากปากกรวยไปสู่ปลายแหลม แทนที่จะเป็นการวิ่งตรง ๆ เหมือนเราเทนํ้าใส่กรวยแบบปกติที่เรากรอกนํ้า ระยะทางที่เพิ่มขึ้นมานี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ฝุ่นกระทบกับผนังของกรวย และฝุ่นก็จะทยอย ตกลงไปกองในถังด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก เหมือนให้ผนังกรวยช่วยสะกิดฝุ่นออกจากลม

  2. การเพิ่มนํ้าหนักของฝุ่นโดยใช้ความเร่งด้วยพลังงานเท่าเดิม : การวิ่งวนๆของลมในทรงกรวยเป็นการวิ่งด้วยความเร่ง เพราะด้วยความเร็วเท่าเดิมแต่ระยะทางค่อยๆหดลงเมื่อลมวิ่งเข้าใกล้ปลายแหลมของกรวย และความเร่งตัวนี้ทำให้ฝุ่นที่มีนํ้าหนักเบามากๆ มีนํ้าหนักมากขึ้น ด้วยกฏของนิวตันข้อ 2 และ 3 อธิบายง่ายๆก็คือ

    การที่วัตถุจะเกิดความเร่งได้จะต้องมีแรงบางอย่างมาผลักให้วัตถุนั้นเคลื่อนที่ และยิ่งแรงกระทำมากขึ้นเท่าไร วัตถุก็จะสะท้อนแรงนั้นกลับมากขึ้นเท่านั้นและในปรากฏการนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ลมวิ่งเร็วขึ้นด้วยความเร่งแบบทวีคูณ ฝุ่นที่มีมวลมีนํ้าหนักก็พยายามจะต้านความเร่งของลมนั้นทำให้ตัวมันเองนํ้าหนักมากขึ้นหลายเท่าตัว จนไม่สามารถทนติดอยู่กับลมได้ ในระบบ Cyclone นี้ Dyson ใช้แรงโน้มถ่วงของโลก 1g หรือ 10 เมตร/วินาทีกำลังสอง (วัตถุมีความเร็วเพิ่มขึ้น 10 เมตรต่อวินาที ในทุกๆ 1 วินาที) เป็นมาตรฐานในการเพิ่มความเร่งของลมให้ระบบ

    ฝุ่นเบาๆที่เดิมสามารถลอยติดอยู่กับลมในบรรยากาศปกติของโลก คือ ฝุ่นที่เบามากจนแม้แต่ความเร่ง 1g นั้นไม่สามารถดึงให้มันตกลงพื้นได้ ดังนั้นระบบ Dual Cyclone จะต้องเพิ่มความเร่งของลมให้มากกว่า 1g แบบหลายเท่าตัว จนทำให้ฝุ่นเบาๆ นั้นหนักขึ้นจนเกาะอยู่บนลมนั้นไม่ได้อีกต่อไป

หากใครนึกภาพตามไม่ออกให้นึกถึงเวลาเราซ้อนพี่วิน มอเตอร์ไซด์ แล้วตอนพี่วินออกตัวด้วยความแรงจากที่จอดรอไฟเขียวมาซักพัก ร่างกายของเราก็พยายามต้านการออกตัวของพี่วินนั้นทำให้เราต้องผงะเกือบหงายหลังกันทุกครั้ง

หลักการของกรวย Dyson ก็คือการออกแบบให้เกิดการเดินทางด้วยความเร่งโดยใช้พลังงานเท่าเดิมด้วยการให้ลมวิ่งหมุนๆวัตถุทรงกรวยนี่เอง

ด้วยบารมีของ prototype 5,127 ชิ้น ถัง Cyclone ของ Dyson ทำให้ความสามารถในการดูดไม่ตกจนกว่าฝุ่นจะเต็มถัง 4 ลิตร ซึ่งก็ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าฝุ่นจะเต็ม (เว้นแต่ว่าพรมบ้านคุณใหญ่เท่าสนามฟุตบอล) ด้วยเหตุนี้พ่อบ้านก็ไม่ต้องถอดถังไปตบเอาฝุ่นออกบ่อยๆ เหมือนถุงผ้าที่ฝุ่นยังไม่เต็มถุงแรงดูดก็หายไปแล้ว

ถึงแม้เจ้าถัง Cyclone นี้ได้แก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายฝุ่นที่เป็นปัญหามากว่า 100 ปีได้อย่างหมดจด แต่คำว่าสมบูรณ์แบบก็เรียกได้ว่ายังห่างไกล ด้วยนํ้าหนักเครื่องที่ยังคงมหาศาล ถึง 9kg ที่คงมีแต่พ่อบ้านนักกล้ามเท่านั้นที่มีความสุขกับมัน กับหัวแปรงที่หมุนตลอดเวลาเพราะ เป็นระบบสายพานที่ไปผูกอยู่กับมอร์เตอร์หลัก ที่แค่เปิดเครื่องมอเตอร์หมุน แปรงก็หมุนไปตามความแรงของมอเตอร์ทันทีแบบไม่มีทางเลือก จึงทำให้ DC-01 เหมาะเพียงพ่อบ้านนักกล้ามที่อยู่บ้านที่มีแต่พื้นพรม พื้นแข็งประเภทอื่นๆ ก็คงได้แต่รอกันต่อไป เพราะเมื่อแปรงหมุนตลอดพอไปเจอฝุ่นบนพื้นแข็งแปรงก็ได้แต่หมุนให้ฝุ่นหนีจากการดูดไปเรื่อยๆ

ถัง Dual Cyclone ถูกใช้สร้างเครื่องดูดฝุ่นภายใต้ชื่อ Dyson มาอีก 4 รุ่น DC-02/03/04/05 ในระยะเวลา 8 ปี ทุกตัวค่อยๆพัฒนาเรื่องนํ้าหนัก ขนาด และการประกอบชิ้นส่วนให้แข็งแรง ในส่วนของหัวแปรงก็เริ่มมีมอเตอร์ควบคุมแยกออกมาในรุ่น DC04/05 ทำให้กิจกรรมขุดฝุ่นไม่จำกัดอยู่ที่พรมอย่างเดียวเท่านั้น บนพื้นแข็งก็สามารถดูดฝุ่นเข้าถังได้เช่นกัน และทุกการพัฒนานั้นก็เพื่อให้เหล่าพ่อบ้านอีกมากมายทำกิจกรรมขุดฝุ่นออกจากพรมและพื้นได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในลักษณะแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี จนกระทั่งถึงเวลาที่สิทธิบัตรตัวแรกที่ช่วยปกป้อง Dyson มาตลอด 20 ปีก็ได้จบลงในปี 2000

มองให้ลึกเกินกว่าฝุ่น

ในตลอด 8 ปีของ Dual Cyclone สร้างความสำเร็จให้ Dyson มากมาย ขายเครื่องดูดฝุ่นไปถึง 18 ล้านเครื่องและแย่ง market share จาก Hoover บริษัทที่สร้างเครื่องดูดฝุ่นไฟฟ้าตัวแรกของโลกเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านั้นมาได้ แบบเรียกว่าสลับตำแหน่งกันยืนในตลาดเลยทีเดียว

อีกองค์ประกอบนอกเหนือจาก technology ที่ทำให้ Dyson แซงคู่แข่งได้รวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี คือ “การออกแบบ” Sir James Dyson เองได้รับรางวัลมากมายในฐานะ Industrial Designer จาก DC01 และ DC02 และทั้ง สองโมเดลนั้นได้ถูกนำไปขึ้นหิ้งตามพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บเป็นความทรงจำแห่งยุคสมัยไปเป็นที่เรียบร้อย

DC01 DC02 เป็นตัวแทนหลักคิดและปรัชญาการออกแบบของ Dyson เลยก็ว่าได้ซึ่งทุกวันนี้ก็เรายังสามารถเห็นแนวทางการออกแบบเหล่านั้นซ่อนอยู่ในทุกๆ โมเดลของ Dyson
หลักการคือความซื่อตรงของการออกแบบไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลา Dyson จะเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยี และ การใช้งานก่อน

โดย form ที่ใช้จะเป็น Geometric แทบจะทั้ง หมด ทรงกระบอก/สี่เหลี่ยม/วงกลม แบบตรงๆตามความจำเป็นของมันให้เหมาะสมกับ function แต่ความ dynamic จะไปซ่อนอยู่ในวิธีจัดวางองค์ประกอบของ Geometric forms เหล่านั้นให้ดูมีความเคลื่อนไหว เช่น การที่ปล่อยล้อให้เป็นล้อกลมๆโผล่ออกมาให้เห็นอย่างซื่อตรง และวางในตำแหน่งที่ดูไม่ Dead center ทำให้แม้จะเป็นทรงที่เรียบง่ายแต่กลับดูมีการเคลื่อนไหว

การโชว์ล้อ เป็นการออกแบบที่แตกต่างจากคู่แข่งที่มักจะเอาล้อไปหลบแล้วเน้นแสดงฟอร์มสวยงามของตัวเครื่อง การแปะล้อให้ user เห็นแบบชัดๆของ Dyson จึงทำให้เกิดการสื่อสารให้คนเข้าใจโดยไม่ต้องคิด ว่า "อ้อลากชั้น ไปไหนมาไหนได้นะ และชั้นหันหน้าไปในทิศทางนี้นะ" เพราะเครื่องดูดฝุ่นโดยธรรมชาติของมันซับซ้อนมากอยู่แล้ว มีทั้งท่อ ทั้งแปรง ทั้งหัวที่ต้องเปลี่ยนไปมา หากดีไซน์ดันดัดจริตไปเติมความยุ่งยากของฟอร์มเข้าไปอีกโรงเรียนมัธยมชายล้วนคงต้องบรรจุวิชาการใช้เครื่องดูดฝุ่นเข้าไปให้นักเรียนทุกคนเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นพ่อบ้านแน่นอน

การใช้สีที่ตั้งใจแยกให้ part ที่จำเป็นต้องถอดเป็นสีเหลือง ก็แน่นอนว่ามันช่วยสื่อสารให้ผู้ใช้เข้าใจแบบทันทีว่าต้องถอดนะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะทำความสะอาดหรือเปลี่ยนการใช้งาน ในตัวเครื่องคงมีเพียงแค่มือจับที่มีความ Organic เพื่อให้เหมาะกับ ergonormic หรือสรีระมือของมนุษย์ แต่ที่จับก็ยังคงลงตัวไปกับความ Geometric form หลักๆ

การทำงานของ Dyson คือการกลมกลืน Engineer เข้ากับ Design แบบไม่ประณีประนอม Dyson ชอบยกตัวอย่าง Mini Couper ที่ออกแบบโดย วิศวกร Sir Alexander Arnold Constantine Issigonis เรียบง่ายสมบูรณ์แบบจนกลายเป็น Icon แห่งยุคสมัยให้คนได้จดจำ จนตัว Dyson เองเคยออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ควรแยกหน้าที่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน Engineer ทุกคนควรได้ใช้หลักคิดของการออกแบบ และในทางกลับกัน นักออกแบบเองก็ต้องเข้าใจพื้นฐานทาง physic ของ Engineer ด้วยเช่นกันไม่ใช่มุ่งเน้นไปเพียงแต่อารมณ์และ form อย่างขาดความเข้าใจ


สามารถอ่าน Design Process ของ Dyson ได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/.../james-dyson-part-2-7...

New S-Curve

ในวันที่ สิทธิบัตร Dual Cyclone จบลงในปี 2000 คู่แข่งเริ่มนำ Technology Cyclone ที่ Dyson คิดค้นไปใช้ในเครื่องดูดฝุ่นของพวกเขา และเอามาขายในราคาที่ถูกลงจนเรียกได้ว่าโรงงานจีนยังอายเลยในเวลานั้น

Dyson ได้พยายามหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ มาทดแทน Dual Cyclone ไม่ว่าจะเป็น

  1. Vacuum Robot DC-06 ที่ถูกพับเก็บไปด้วย Cost ของ sensor ในการทำให้ Robot อ่านพื้น ที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงเกินกว่าที่พ่อบ้านทั่วไปจะรับไหว(ในเวลานั้น)

  2. เครื่องซักผ้า Counter Rotation ที่รีบเกินจนเป็นปัญหามากมายเจ็บปวดจนถึงขั้นต้องหยุดผลิตหยุดขายกันภายในเวลาเพียงแค่ 2 ปี และทำให้ engineer หมดเวลากับการตระเวณซ่อมเครื่องซักผ้า แทนที่จะเอาเวลามาพัฒนาสินค้าใหม่ๆ

จากความล้มเหลวของ 2 โปรเจคนี้ในเวลาฉุกเฉินที่คู่แข่งเริ่มกระชั้นชิดเข้ามาเพราะ สิทธิบัติของ Dual Cyclone หมดอายุไป

ในช่วงเวลาสั้นๆนี้ความกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้มหาศาล และเป็นบทเรียนให้ Dyson กลับมา Focus ในเรื่องของฝุ่นต่อให้มากกว่าเดิม ด้วยการตัดสินใจ 3 อย่างที่ช่วยแก้สถานการณ์และวางรากฐานที่มั่น คงให้บริษัทในเวลาต่อมา คือ

  1. ย้ายฐานการผลิตจาก England มาที่ Malaysia เพื่อลดต้นทุนสินค้า(แต่ราคาขายไม่ลดนะ) เตรียมพร้อมสู่ Global Market

  2. ตั้ง Dyson Microbiology Lab เพื่อเข้าใจฝุ่นให้มากขึ้นและลงลึกมากกว่าเดิม หาคำตอบที่คนอื่นไม่เคยมอง Dyson มักไม่ค่อยเชื่อในผู้เชี่ยวชาญ จากประสบการที่เคยเอา Concept Dual Cyclone ไปถามผู้เชี่ยวชาญ และคำตอบที่ได้คือ “No” ไม่น่าจะเป็นไปได้ การลงทุนในความรู้ด้วยตนเองจึงเป็นเหมือน Fundamental ของ Dyson

  3. พัฒนาการผลิต Digital Motor ร่วมกับโรงงานที่สิงคโปร์ ตลอด 20 ปีกับการพัฒนาเครื่องดูดฝุ่น Dyson พบแล้วว่าถ้าหากเราไม่สามารถพัฒนามอเตอร์ด้วยตัวเองขึ้นมาใหม่ เครื่องดูดฝุ่นไม่มีวันที่จะก้าวข้ามสิ่งที่เป็นอยู่ไปได้มากกว่านี้ จึงเริ่ม จริงจังกับการพัฒนาเทคโนโลยี Digital Motor ให้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

และเหตุผลหลักๆที่ย้ายมาสิงคโปร์เพราะที่นั่นเป็นเหมือน Hub ของ Engineer ที่มีความรู้มากมายและความเข้าใจในการผลิตแบบ High Precision หรือ การผลิตแบบความแม่นยำสูง และ Robotic ที่จำเป็นอย่างมากในการสร้าง Digital motor ที่จะกลายเป็น Core Technology ของ Dyson แทบจะทั้ง หมดในเวลาต่อมา (แล้วเราจะเล่าเรื่องราวของ Digital Motor ใน part ต่อๆไป)

The Better Cyclone for the old new market

ในระหว่างที่เกิดการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ สิ่งที่ Dyson ได้ค้นพบก็คือ การหมุน Cyclone หากกรวยยิ่งเล็กลมยิ่งวิ่งเร็วขึ้น

ไม่ต่างอะไรกับการเอามือไปบีบปลายสายยางเอาไว้ทำให้นํ้าที่พุ่งออกมาแรงกว่าเดิม และเมื่อลมยิ่งวิ่งเร็วเท่าไรการดักฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

มาถึงตรงนี้เราจะขอพาไปคุยปัญหาฝุ่นกันให้ลึกกว่าเดิม

หากถามว่าฝุ่นจิ๋วมีปัญหาอะไร คือ ฝุ่นจิ๋วนั้นมีขนาดเล็กมาก นํ้าหนักเบามาก ทำให้แรงโน้มถ่วงของโลก 1g ไม่สามารถดึงฝุ่นเหล่านั้นให้ตกลงมาสู่พื้นได้ ถ้าถามว่าเล็กแค่ไหนก็คือระดับ micron (1000 micron = 1 mm) ถ้าเล็กจนถึง 2.5 micron ก็กลายร่างเป็น PM2.5 ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ และนั่นคือสิ่งที่ Dyson เริ่มพูดถึงมานานแล้วตั้งแต่ปี 2000 และเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่ได้รับจากการตั้ง Microbiology lab ด้วยเช่นกัน

จากการค้นพบเรื่องฝุ่น และ กรวยเล็ก เป็นที่มาของตำนานตัวใหม่ในชื่อ Root Cyclone ในปี 2001 ที่เอากรวยเล็กๆหลายๆอันไปทำงานคู่กับ กรวยใหญ่ เพื่อช่วยกันดักฝุ่นจิ๋วและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินลมขึ้นอีก 45% จาก Dual Cyclone ที่หมดอายุไป หรือพูดง่ายๆคือบังคับลมวิ่งเข้าไปหากรวย 8 อันในถังเก็บฝุ่นนั่นเอง

ถึงแม้จะเป็น technology ตัวใหม่แต่ก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างเดิมคือ Dual Cyclone เพียงแค่มี กรวยเล็กๆ 7 อันไปแปะอยู่บริเวณส่วนบนของถังในลักษณะหงาย (ปลายแหลมอยู่บน) เพื่อช่วยกรองฝุ่นอีกชั้นนึงก่อนปล่อยให้ลมเดินทางไปหามอเตอร์แล้วคืนลมสะอาดสู่ห้องอีกครั้ง

บทเรียนอันนึงที่ Dyson ได้มาจากการขายเครื่องดูดฝุ่นตลอด 10 ปี คือ เครื่องใหญ่ (upright) ขายดีกว่า อาจจะเป็นว่าหากไหนๆจะซื้อ Dyson(ที่แสนแพง) แล้วก็คงต้องจัดหนัก ตัวใหญ่สุด แรงสุด ไปเลยดีกว่า เห็นพลังดูดแบบเต็มๆก็สะใจดี

DC07 จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ด้วย technology 8 Root-Cyclone ที่เติมกรวยเล็กๆเข้าไปอีก 7 อัน + กับกรวยใหญ่อีกอัน เป็น 8 ทำให้ พลังดูด กระโดดจาก 90 มาเป็น 300 Air Watts แบบที่เรียกว่า พลังดูด 3 เท่า เอ้าดูดไม่ออกให้มันรู้ไป และถือเป็น ตัวเลข Air watts ที่เกือบจะสูงที่สุดในเครื่องดูดฝุ่นทั้งหมดของ Dyson และก็เป็นเช่นนั้นแล

DC07 จัดว่าเป็นตำนานตัวใหม่ที่ขายดีมาก ขายกันตั้ง แต่ 2001-2008 แบบที่เรียกว่าตัวใหม่ๆออกมา คนก็ยังวิ่งกลับไปหา DC07 อยู่ดี ส่วนคู่หูของ 07 ในตระกูลตัวเล็ก (cylinder) ก็คือ DC08 ที่ปล่อยออกมาในปีถัดมา และถือเป็นmodel แรกที่ผลิตใน malaysia ก็ขายดีไม่แพ้กัน

และเจ้า DC07 และ 08 ที่มาพร้อมกับสิทธิบัตรชุดใหม่ Root Cyclone คือกระบวนท่าที่จะเดินทางสู่ Global Market ของ Dyson ไม่เพียงแค่การย้ายฐานการผลิตไปที่ South East Asia

แต่หมุดหมายที่สำคัญของ Dyson คือ

“การที่ License ที่ขายให้ บริษัท Fantom ที่ อเมริกา และ Apex จาก ญี่ปุ่น ได้หมดลงแล้วในปี 2000”

Dyson สามารถกลับเข้าไปขายเครื่องดูดฝุ่นในอเมริกาและญี่ปุ่นได้ด้วยตัวเองแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับมาญี่ปุ่น คือการกลับมาสู่มาตุภูมิตลาดผู้ให้กำเนิด Dyson ltd. อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้กลับมาเพียงแค่เอาของที่มีมาขาย แต่กลับมาด้วย DC12 ด้วยจุดมุ่งหมายเต็มเปี่ยมที่จะทำให้พ่อบ้านญี่ปุ่น ที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องแคบๆมีเครื่องดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ เล็กกระทัดรัด เก็บง่าย แต่ยังดูดแรงสะใจ

หมายเหตุ : Dyson ในตระกูล DC หลังจากเข้าสู่ Global market แล้วจะไม่สามารถไล่ เบอร์ 01-02-03 เหมือนก่อนหน้านี้ได้แล้วเนื่องจาก บางเบอร์คือโมเดลสำหรับตลาดที่เฉพาะเจาะจง ในกรณีนี้ เราจะข้าม จาก DC-08 ไป DC-12 เลยเพราะ DC09-10 นั้นคือ 08 สำหรับประเทศอื่น ๆ


Dyson ได้อธิบาย Design Process สำหรับการพัฒนา DC-12 ไว้สามารถติดตามได้ ที่ : https://www.class-a-solution.com/.../james-dyson-part-2-7...

The Smallest Vacuum in the world (at that time)

DC12 ได้พัฒนาการเก็บท่อดูดฝุ่นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการม้วนท่อรัดไปกับตัวเครื่องแทนที่จะเป็นเสาแท่นตั้งขึ้นมา เพราะถึงเสาจะไม่ได้กินพื้นที่แต่ก็ต้องการพื้นที่ในการเก็บอยู่ดีการกำจัดเสาออกไปทำให้ชีวิต compact แบบพ่อบ้านญี่ปุ่นดีขึ้นแบบไม่รู้ตัวและการเก็บสายแบบนี้ก็ถูกนำกลับไปใช้กับ DC08 เป็น SKU ใหม่ให้ตลาดอื่นๆตื่นเต้นแบบไม่รู้ตัวด้วย รุ่น DC08T

และในเวลาเดียวกันระหว่างที่ Dyson พัฒนา DC12 ก็มีการพัฒนา DC11 ควบคู่กันไป โดยที่มีเป้าหมายในการทำเครื่องดูดฝุ่นที่เล็กที่สุดในโลก ณ เวลานั้น (2001-2003) ด้วยการใช้ถังเก็บฝุ่นขนาดเล็กสองถังวางคู่กัน แทนที่จะเป็น ถังใหญ่ๆ ถังเดียว และ Design นี้ได้สร้าง Character ใหม่ของเครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็กที่มีความลํ้าสมัยมากขึ้นแบบที่ว่าเอาไปวิ่งบนดาวอังคารก็ดูไม่แปลกอะไร และยังเป็นการนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในการออกแบบ เพื่อหนีจากตลาดเดิมที่ตัวเองเคยสร้างไว้

การพัฒนาเครื่องดูดขนาดเล็ก DC08 จนถึง DC12 ก็ทำให้ Dyson มองแล้วว่าหากเราไม่สามารถเลิกใช้ AC Motor (Carbon brush) เครื่องดูดฝุ่นก็ไม่สามารถเล็กไปกว่านี้ได้แน่นอน การเดินทางของ Digital motor ที่ไปร่วมพัฒนากับบริษัทที่สิงคโปร์อันสุดเข้มข้นก็ได้เริ่มขึ้น

Dyson ได้เริ่มเอา Digital Motor V1 มาทดลองใช้กับ DC12 ที่ขายในญี่ปุ่น และให้ชื่อใหม่ว่า DC12Plus ในปี 2005 และผลที่ได้คือ พลังในการดูดของ Digital Motor V1 นั้นไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของ DC12 ที่ได้ออกแบบไวทำให้ DC12Plus ทำงานได้แค่ job เล็กๆเบาๆแต่ราคากลับสูงโดด เลยไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร

การเริ่มต้นปฏิวัตการควบคุมเครื่องดูดฝุ่น

ที่กล่าวไว้ในตอนต้น กับ คุณสมบัติ 3 ประการของเครื่องดูดฝุ่น จาก DC01 มาจนถึง DC12 สิ่งที่ Dyson โฟกัสทั้ง หมดจะหนักไปทางข้อ 2 คือ ความสามารถในการย้ายฝุ่นที่คุ้ยออกมาไปเก็บไว้ในที่ที่ควรเก็บอย่างหมดจด ไม่หลุดออกสู่บรรยากาศ ในระหว่างการเดินทางของฝุ่นจาก พื้น หรือพรม ไปยังถังเก็บ


ในขณะที่ข้อ 3 ความสามารถที่ทำให้มนุษย์ทุกคนบนโลกทำ ข้อ 1 และ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและง่ายที่สุด ถูกนำเสนอผ่านการพัฒนาเครื่องตัวเล็ก (Cylinder) ที่นำหนักเบากระทัดรัด แต่แน่นอนว่าจะแลกมาด้วยประสิทธิภาพในการดูดและความถี่ในการต้องถอดถังไปล้าง เพราะความจุของถังก็เล็กลงตามขนาดของเครื่องเช่นกัน Dyson จึงมองว่านี่ยังไป innovate เพียงพอที่จะได้ชื่อว่าเครื่องดูดฝุ่นที่ใช้งานได้ง่าย ประกอบกับ Digital Motor V1 ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำเครื่องดูดฝุ่น size เล็กนํ้าหนักเบาออกมาได้ ณ เวลานั้น

The ball revival

ในปี 2005 Dyson จึงได้นำเสนอ DC15 หรือ Ball ที่นำเอาลูกบอลทรงกลมมาใช้ในการควบคุมทิศทางของเครื่องดูดฝุ่นแทน ล้อทรงกระบอก หากใครได้อ่านประวัติ Dyson มาแล้ว แน่นอน เจ้า Ball wheel นี้มาจาก WheelBarrow หรือ รถเข็นล้อทรงกลม ที่ Dyson ได้ออกแบบไว้ในช่วงปี 80s

DC15 คือ Model ที่ต่อยอดมาจาก DC07 ที่จัดได้ว่าเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในยุคนั้นด้วย Technology Root Cyclone และแรงดูดทรงพลังที่พร้อมจะขุดฝุ่นออกจากพรมทุกประเภท แต่สิ่งที่ต่างกันไปคือ การปรับการจัดวาง Root Cyclone จาก กรวยเล็กที่วางหงาย (ปลายแหลมอยู่บน) มาเป็นวางควํ่า (ปลายแหลมอยู่ล่าง) ให้เหมือนกับตัวกรวยอันใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า Dyson ได้ปรับการจัดวางกรวยแบบนี้มาซักระยะแล้วกับ Model ตัวเล็กที่ขายในประเทศต่างๆ

ครั้งนี้เอามาใช้กับ DC15 สิ่งที่ได้คือพื้นที่ในการวางกรวยลดลง จากเดิมที่กรวยต้องหันด้านกว้างชนกันทำให้ถังมีขนาดยาวเกินความจำเป็น การจัดวางกรวยให้ควํ่าเหมือนกันหมดสามารถลดพื้นที่ใช้สอยลงมาได้ แต่ประสิทธิภาพยังคงเท่าเดิม และด้วยจุดขายที่จัดได้ว่าเป็น Innovation ในเวลานั้นคือ Ball wheel ที่สร้างความฮือฮาในการเปิดตัว ด้วยการแสดงการเคลื่อนที่และการเลี้ยวของเครื่องดูดฝุ่นไปตามมุมห้อง หลบ Furniture สิ่งกีดขวางได้อย่างคล่องตัว โดยที่ไม่ต้อง คอย "ไถไป" และ "ไถกลับ" แบบล้อทรงกระบอกแบบเดิม ที่กว่าจะเลี้ยวได้แต่ละครั้งต้องไถเครื่องดูดฝุ่นกลับมาตั้ง หลักใหม่แล้วค่อย ไถเบนหัวไปในทิศทางที่ต้องการ

สำหรับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคกับเจ้า DC15 กลับสวนทางกับสื่อ อย่างสิ้นเชิง ด้วยราคาที่สูงถึง $600usd ในปี 2005 บวกกับความเทอะทะ นํ้าหนักเยอะเป็นวัตถุที่หนัก 9kg ถึงจะควบคุมง่าย แต่ก็ไม่ได้สบายไปกว่าเดิมขนาดนั้น

และท้ายที่สุดเจ้า Ball นี้นอกจากจะเป็นทรงกลมทำงานเป็นล้อแล้วยังมีการซ่อนมอเตอร์เข้าไปในนั้น ทำให้เกิดระบบที่ซับซ้อน แปลกใหม่จนกระทั่งบริษัทซ่อมบำรุงหลายๆแห่ง งงกันไปเป็นแถบๆว่าจะถอดประกอบเปลี่ยนพาร์ทกันอย่างไร เลยกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสารพัดนึกกับ ความใหม่ที่นำเสนอมานี้

Beginning of the future

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจาก DC15 ที่มีล้อเป็นลูกบอลแล้ว Dyson ก็นำเสนอ DC16 ที่เป็นเครื่องดูดฝุ่นขนาดพกพา (handheld) เป็นครั้งแรก เป็นความพยายามในการพัฒนาให้เครื่องดูดฝุ่นใช้ง่ายขึ้นด้วยการลดขนาดให้เล็กกระทัดรัด นํ้าหนักเบาเหลือเพียง 1.55kg และตัดสายไฟออก ใช้ Battery Li-on แทนการเสียบปลั๊ก

แต่โมเดลนี้ Dyson กลับยังใช้ DC motor ที่ขายตามท้องตลาด ถึงแม้จะมี Digital Motor ที่พัฒนาขึ้นมาเองแล้วก็ตาม และแน่นอนอุปสรรคที่ Dyson ยังไม่สามารถข้ามไปได้คือ

  1. พลังดูดของ Motor ที่เบามากเพียง 36 Air Watt หรือ พลังดูดเพียง 1 ใน 10 ของ DC07 รุ่นที่ขายดีที่สุด ทำให้ DC16 ทำงานได้แค่งานเบาๆ เช่นดูดเศษผงฝุ่นบนพื้นเรียบๆ เรียกได้ว่าห่างไกลจากการขุดฝุ่นออกจากพรมแบบที่เครื่องดูดฝุ่นทั่วไปควรจะทำได้

  2. แบตเตอรี่ Li-On 14.8V กับ มอเตอร์ที่ใช้ ทำให้ DC16 ทำงานแบบดูดแรงต่อเนื่องได้เพียง 6-8 นาที และด้วยคุณสมบัตทั้งหมดนี้รวมร่างกันมาในราคา $200usd ในปี 2006 จึงไม่แปลกนักที่ตลาดยังไม่ค่อยตอบสนองในเวลานั้น เพราะคุณสามารถกำเงิน $100usd ไปซื้อเครื่องดูดฝุ่นแรงๆที่ใช้เทคโนโลยี Cyclone แต่ไม่ใช่ของ Dyson ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Model DC16 ตัวนี้จะเป็นเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด Dyson Vacuum ทั้งหมดที่ขายอยู่ในปัจจุบัน (ปี 2022) เพราะ สิ่งที่ได้จากโมเดลนี้ทำให้ Dyson เข้าใจแล้วว่า ทิศทางในการพัฒนา Digital Motor ไม่ได้มีเพียงแค่ ตัว Motor อย่างเดียว แต่การสร้าง ระบบทางเดินลมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกพลังงานที่ใช้ถูกแปลงไปเป็นพลังดูดให้มากที่สุด

เราจะขอหยุด การเดินทางของฝุ่น part 1 ไว้ ณ ที่ตรงนี้ ในปี 2006 ในปีที่ เครื่องดูดฝุ่น Dyson ได้ครอบครุมทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ

  1. ขนาดใหญ่ (upright) เป็นรุ่นบุกเบิกของ Dyson Vacuum ตั้ง แต่ DC01 มาถึง DC14 ที่ใช้ Technology Cyclone บนโครงสร้างเครื่องดูดฝุ่นแบบเดิม กับพลังดูด และพลังขุดฝุ่นออกจากพรมที่มหาศาล จนพา Dyson เติบโตอย่างแข็งแกร่งแซงผู้นำในวงการ และครองความเป็นหนึ่งในตลาด อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ในกรอบเวลาเพียง 10 ปี (1993-2006)

  2. ขนาดเล็ก (Cylinder) กับเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์ และการนำเสนอวิธีการเอา Design มาแก้ปัญหาในเรื่องพื้นที่ใช้สอย แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพในการดูดและการขุดฝุ่นออกจากพรม

  3. ล้อทรงกลม (Ball) กับความพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆในการใช้งานเครื่องดูดฝุ่น เป็นก้าวแรกที่พร้อมจะเสี่ยง ท้าทายวงการ และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเครื่องดูดฝุ่น เรื่องราวต่อจากนี้ใน part 2 จะได้เห็นการพัฒนาไปข้างหน้า ด้วยการเรียนรู้จากความล้มเหลวในรุ่นนี้ พร้อมกับ การตัดสินใจที่จะหยุดพัฒนา รุ่น Ball ในเวลาต่อมา

  4. พกพา (handheld) เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่จะพาเครื่องดูดฝุ่นเทอะทะๆ ให้เล็กลง แต่กลับทรงพลัง และเป็นเหมือนการปฏิวัตตัวเอง ด้วยการเลิกผลิตรุ่นที่เคยเป็นตำนานต่างๆ แล้วหันมา Focus ที่รุ่นพกพานี้


สามารถอ่านบทความงานออกแบบอื่นๆได้ที่ลิงค์นี้
https://www.class-a-solution.com/blog

Previous
Previous

Henry Ford กับการปฎิวัตอุสาหกรรมและสังคมด้วย Model T

Next
Next

ประสบการณ์เข้าร่วมงานประกวดของ PK (เจ้าของเพจ) บนเวทีระดับประเทศ American Standard Design Award 2022