James Dyson ( part 1 ) เจ้าแห่ง Innovation สุดยอดนักออกแบบผู้บดขยี้ PainPoint ให้เป็นผุยผง
"ไม่มีใครหรอกที่ชกได้หนักเท่า 'ชีวิต' แต่ไม่เกี่ยวว่าแกหมัดหนักแค่ไหน มันอยู่ที่ว่า แกรับหมัดได้หนักแค่ไหนต่างหาก" Rocky Balboa ได้กล่าวไว้ในหนัง
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตจริงของนักออกแบบคนหนึ่ง ที่กว่าจะประสบความสำเร็จ เขาต้องสู้กับงาน แต่งานดันสู้กลับ !! 5,126 ครั้ง คือสถิติแห่งความล้มเหลวของเขา..
วันนี้ Class A Solution สุดแสนภูมิใจจะนำเสนอ เรื่องราวของนักออกแบบ/นักประดิษฐ์/วิศวกรผู้เป็นตำนาน เจ้าของแบรนด์เครื่องดูดฝุ่น ผู้พิชิตโจทย์สำคัญที่กว่า 100 ปี ไม่มีใครทำได้ (หรือไม่สนใจจะทำ) ผู้คิดค้นนวัตกรรมพัดลมไร้ใบ และผู้สรรค์สร้างเครื่องเป่าผม Dyson ที่สาว ๆ ทุกคนใฝ่ฝันจะมีไว้ครอบครอง
ขอเชิญพบกับ James Dyson นักออกแบบผู้บดขยี้ Pain Point ให้เป็นผุยผง ก่อนดูดลงไปในเครื่องดูดฝุ่น!! ผู้เป็นที่สุดแห่งการแก้ปัญหาด้วย Innovation เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ขอเชิญทุกท่านร่วมดำดิ่งไปกับเราได้ ณ บัด Now !!
อะไรคือสิ่งที่จะแยกระหว่างคนธรรมดากับ "อัจฉริยะ"
ในมุมมองของคนทั่วไป "อัจฉริยะ" น่าจะหมายถึงคนที่มีความสามารถพิเศษ หรือทักษะใด ๆ ก็ตาม ที่เกินกว่าคนทั่วไปจะทำได้ แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังของคำว่า "อัจฉริยะ" ที่ทุกคนต่างมอบให้เขานั้นมีอะไรซ่อนอยู่ ?
James Dyson เกิดในปี 1947 ก่อนเริ่มต้นการศึกษาด้านวิชา Interior Design แล้วย้ายไปเรียน Engineer แล้ววกกลับมาเรียนจบที่ Industrial Design !! ที่มหาวิทยาลัย Royal College of Art ณ สถานที่แห่งนี้ เขาได้ค้นพบจุดบรรจบของ 2 สิ่งที่เขาหลงใหล ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหาใครสักคนหนึ่ง ที่หลงใหลในการทดลองแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่สามารถตั้งสมมติฐานแบบนักออกแบบได้ด้วย หลังจบมา James Dyson ได้แต่งงานกับ Deirdre Hindmarsh ในปี 1968 สตรีผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนในความสำเร็จของเขาภายหลัง
ชีวิตนักออกแบบของ James Dyson เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาได้รับโอกาสจาก Tim Fry ให้ร่วมออกแบบเรือบรรทุก Rotork Sea Truck เรือบรรทุกความเร็วสูงที่สามารถเดินทางได้ 50 ไมล์ต่อชั่วโมง และสามารถจอดได้โดยไม่มีท่าจอดเรือ ด้วยวัยเพียง 23 ปี ในช่วงที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย
โปรเจคนี้ทำให้ James Dyson ได้รับรู้ถึงพลังของ Engineer ที่สามารถทำให้เรือท้องแบนตันๆเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุ การใช้หลักพลศาสตร์ของไหล และการเลือกใช้เครื่องกลในการแก้ปัญหา ทั้งหมดนี้เพื่อให้เรือมีพื้นที่ใช้สอย ขนของขนคนได้อย่างเต็มที่โดยไม่สูญเสียความเร็วในการขนส่ง เมื่อโปรเจคการพัฒนาจบลง Tim Fry ที่เป็น Mentor ของเขาก็ยังให้โอกาสเขา ได้ลองนำผลิตภัณฑ์ไป Pitch ขาย และเป็นจุดเริ่มต้นให้ James Dyson ได้รู้จักการถูกปฏิเสธในเชิงธุรกิจ นับเป็นวัคซีนอันล้ำค่าที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานชีวิตให้กับเขา ในวัยที่ยังศึกษาอยู่
หลังโปรเจค Rotork Sea Truck ลุล่วง James Dyson ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่อีกครั้ง ในปี 1974 กับการออกแบบ Ballbarrow ซึ่งแก้ปัญหา Pain Point ของรถเข็นกะบะทรายในไซต์ก่อสร้าง หรือที่ใช้กันในสวนที่ "ล้อ" มักจะขึ้นสนิม จมในดิน และติดกับคอนกรีตเวลาเข็น มิหนำซ้ำมันยังเลี้ยว คอนโทรลทิศทางได้ยากอีกด้วย
ซึ่ง James Dyson ได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดนี้อย่างเต็มหัวอก ขณะที่กำลังจ้องดูล้อรถเข็นของเขา จมอยู่ในโคลนตมระหว่างการทำสวนที่บ้าน..
ถ้าเขาเป็นเพียงคนสวนธรรมดา เขาคงได้แต่ถ่มถุยชีวิต แล้วก้มหน้าก้มตาใช้งานรถเข็นคันนี้ต่อไป แต่บังเอิญเขาไม่ใช่คนสวนธรรมดา จริง ๆ แล้วเขาคือประธานบริษัท (!?) ออกแบบเจ้าแห่ง Innovation ในอนาคตไงล่ะ
และเมื่อปัญหามันเกิดที่ "ล้อ" ก็เปลี่ยนมันซะสิ !!
James Dyson ได้ออกแบบล้อจากแต่เดิมที่เป็นทรงกระบอกหน้าแคบ มาเป็น "ล้อทรงกลม" คล้ายลูกบอลขนาดใหญ่แทน ซึ่งแก้ปัญหาทั้งหมดได้อยู่หมัด งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลและคำชื่นชมอย่างมาก ซึ่งถือเป็น Innovation แรกของเขาก็ว่าได้ ถึงขนาดได้ออกรายการโทรทัศน์ BBC's Tomorrow's World
ทุกอย่างฟังดูดีราวกับว่า เส้นทางนักออกแบบของเขาถูกปูพรมไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าไม่เพียงแต่.. ลืมเอาหนามออก !! เมื่อเขา "ถูกบีบ" ให้ต้องขาย Innovation นี้ให้นักลงทุนแบบไม่แฟร์ เนื่องจากความผิดพลาดในการขาย License นี่นับเป็นแผลฉกรรจ์แผลแรกที่เขาได้เรียนรู้ ซึ่งสอนให้เขารู้ว่าควรตั้งราคา Innovation ที่ตัวเองพัฒนาขึ้นอย่างไร และเหนือสิ่งอื่นใด คือห้ามมอบสิทธิ์ให้คนอื่นมาควบคุมการเติบโต Innovation ของเราโดยเด็ดขาด !! เพราะถ้ามันจะพังขอให้พังด้วยมือของเราเอง ดีกว่าพังเพราะน้ำมือของคนอื่นโดยที่เราทำอะไรไม่ได้ มันเจ็บใจยิ่งนัก
เราจะเป็น "เจ้าแห่งโจรสลัด" ได้อย่างไร ถ้าไม่เคยผ่านคลื่นลม และทะเลคลั่ง !! ไม่ต่างอะไรกับ "พ่อบ้านที่ดี" ก็ย่อมต้องเคยผ่านการดูดฝุ่นเช่นกัน(ฮา)
เรื่องเกิดขึ้นในวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง หลังบาดแผลจากโปรเจค Ballbarrow เริ่มสมานตัว พ่อบ้าน James Dyson กำลังใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้าน ก่อนที่จะพบว่า.. แม่ง "โคตรไม่เวิร์ค" เนื่องจากเครื่องดูดฝุ่นในสมัยก่อนนั้นใช้ "ถุงผ้า" แทน Filter ในการกักเก็บกรองฝุ่น ซึ่งพอใช้งานสักพักแรงดูดน้อยลง เพราะฝุ่นอุดตันที่ Surface ในถุงผ้า ต้องคอยถอดออกมา ตบปัด ก่อนใช้งานใหม่สักพักเพียงเพื่อที่จะกลับไปตันเหมือนเดิม..
สิ่งนี้มันได้สร้างบาดแผล หรือ Pain Point (เพิ่ม)ในหัวใจคุณพ่อบ้านอย่าง James Dyson ขนาดไหน !!
ไม่แน่ใจว่ามันแก้ไม่ได้ หรือเพราะชินกับปัญหา จนไม่มีใครมองว่ามันเป็นปัญหา เพราะตั้งแต่ปี 1903 ที่บริษัท Hoover ปล่อยเครื่องดูดฝุ่นตัวแรกออกมา ผ่านไป 100 ปี เครื่องดูดฝุ่นวิวัฒนาการไปเพียงแค่ ผลิตรุ่น "ถุงกระดาษ" ออกมา เพื่อที่พอฝุ่นตันก็ทิ้งเปลี่ยนถุงใหม่เท่านั้นเอง
นี่คือการแก้ปัญหาที่ "ดีที่สุด" ที่มนุษยชาติจะทำได้แล้วจริง ๆ หรือ ? อันนี้เราก็ไม่ทราบได้ เพียงแต่สิ่งนี้กำลังจะถูกท้าทาย โดยนักออกแบบคนหนึ่ง..
ในวันนั้นที่ James Dyson ได้เจอปัญหานี้เข้ากับตัวเอง คงจะมีสักแวบหนึ่งที่เขานึกถึงภรรยาของเขา นี่คือสิ่งที่หญิงอันเป็นที่รักของต้องเจอ นี่คือสิ่งที่แม่บ้านทั้งหลายควรได้รับอย่างงั้นหรือ ? ในวันนั้นเขาได้แต่เก็บงำ Pain Point นี้ไว้เงียบ ๆ ในใจ.. เพียงเพื่อรอวันล้างแค้น และแล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อเขาได้สังเกตเห็นเศษไม้ที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ถูกดูดออกไปจากโรงเลื่อยอย่างง่ายดาย โดยไม่มีทีท่าว่ามันจะ 'ตัน' สักที คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
คำตอบ เพราะในโรงเลื่อยมีเครื่อง "Cyclone Particle Collector" ยังไงล่ะ !!
"Cyclone Particle Collector" คืออะไร ?
อธิบายง่าย ๆ มันคือเครื่องดูดขนาดใหญ่ ที่จะดูดเศษไม้เข้าไปในท่อ "ทรงกรวย" แบบคว่ำ แล้วด้วยหลักการแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ผนวกกับแรงโน้มถ่วงของโลก เศษไม้จะถูกหมุนวนชนกับผนัง และด้วยน้ำหนักเศษไม้ที่หนักกว่าอากาศ จะทำให้มันร่วงหล่นแยกลงมากองแหมะที่พื้นด้านล่าง
ที่มา : https://neeflouis.nl/product/vintage-hoover-upright-vacuum/
มีคำกล่าวว่า "ความไวเป็นของปีศาจและนักออกแบบ" !!? เมื่อคิดได้เช่นนั้น James Dyson รีบดิ่งกลับบ้าน รื้อเครื่องดูดฝุ่นเครื่องเดิมออก ประกอบเข้ากับ "กรวยกระดาษ" ที่พับจากกล่องลังแบบง่าย ๆ ด้วยพื้นฐานความเป็น Engineer ที่เขามีอยู่
ผลการทดสอบ ปรากฏว่า "มันเวิร์ค" !!
และนี่คือก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ จุดเริ่มต้นของ Innovation ที่จะนำพามวลมนุษยชาติ หลุดพ้นออกจากวังวนแห่งการ 'ตบปัด' ทำความสะอาดถุงผ้า ปัญหาข้อใหญ่ที่เกิดจากการใช้งานเครื่องดูดฝุ่นแบบเดิม ๆ Pain Point ที่กรีดลึกฝังแผลเป็นทิ้งไว้ในใจคุณแม่บ้านและคุณพ่อบ้าน มากว่า 100 ปี กำลังจะหมดไป !!
เพียงแต่ว่า.. บนเส้นทางของนักออกแบบอย่าง James Dyson ใต้พรมที่ปูไว้ด้วยกลีบกุหลาบ คราวนี้ไม่ได้ซ่อนไว้เพียง ขวากหนามที่แหลมคม แต่มันยังมีอุปสรรคและบททดสอบ ที่เกินกว่าเขาจะจินตนาการได้ รออยู่..
สรุปง่าย ๆ เอาเป็นว่า ถ้าวิธีการนี้ "เวิร์ค" และทำได้จริงเครื่องดูดฝุ่นก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงผ้าอีกต่อไป !!
ที่มา : https://www.lovemoney.com/.../sir-james-dysons-journey-to...
ก่อนที่จะเล่าต่อเราอยากให้ข้อมูลตรงนี้ก่อนว่า James Dyson ถูกยกย่องให้เป็นเจ้าแห่ง Innovation หรือ นวัตกรรมการออกแบบ
ซึ่งเขาเคยให้มุมมองเกี่ยวกับคำ ๆ นี้ไว้ในบทสัมภาษณ์อย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขา Innovation คือการลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการ "ดีขึ้นอย่างชัดเจน" ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นของใหม่ เป็นของที่เรามีอยู่แล้วก็ได้ เช่น โปรดักส์เดิมแต่ใช้พลังงานน้อยลง, วัสดุน้อยลง, หรือขนาดเล็กลง ซึ่งถ้าพูดแบบนี้มันก็ฟังดูเล็กน้อยมาก เราขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้นอีกนิดนึง
เคยดูดฝุ่นอยู่แล้ว "แมว" ที่บ้านกัดปลั๊กไฟเล่นไหม ? บ่องตง เลยว่าหงุดหงิด !! คืองานบ้านนี่ปรกติก็ไม่ค่อยอยากจะทำอยู่แล้ว(ฮา) ยิ่งต้องมาเจอแบบนี้อีก..
ซึ่งปัจจุบัน Dyson ได้พัฒนามอเตอร์และแบตเตอรี่ จนเครื่องดูดฝุ่นไม่จำเป็นต้องเสียบ ปลั๊กไฟ คาไว้เวลาใช้งาน แถมพลังการดูดก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคำว่า "ดีขึ้นอย่างชัดเจน" ไม่ได้หมายถึงโปรดักส์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงชีวิต(ทาสแมว)ของเราทุกคนนี่แหละ !! เพียงแต่การจะได้มาซึ่ง Innovation นี่บอกได้เลยว่า รากเลือด !! ซึ่ง James Dyson เชื่อว่า สิ่งนี้มันจะได้มาจากการสั่งสม "ความล้มเหลว" แล้วค่อย ๆ เรียนรู้เท่านั้น มันไม่มี Innovation ไหนหรอก ที่จะระเบิดตูมออกมาเป็นช็อคโกแลตท่วมทุ่งข้าวสาลีในทีเดียว !!
ประเด็นคือ เรากล้าที่จะล้มเหลวมากพอไหม ?
ในยุคที่เราต่างให้คุณค่ากับความสำเร็จมาก.. มากซะจนแทบไม่เหลือที่ยืนให้กับความล้มเหลว ด้วยความเชื่อที่ว่า ล้มเหลวเท่ากับแพ้ หรือ ล้มเหลวเท่ากับ(เรา)ไม่ดี ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเราเชื่อแบบนั้น มันก็ไม่แปลกอะไรที่เราจะไม่กล้าออกจาก Safe Zone เลย
เคยได้ยินเรื่องนี้ไหม ว่าอะไรทำให้ "เด็กน้อย" คนหนึ่งลุกขึ้นเดินได้ ?
อาจเพราะตอนเด็ก ทุกครั้งที่ "ล้ม" เรายังมีคนคอยส่งเสียงปลอบโยน ให้กำลังใจ และเมื่อเราลุกขึ้นเดินได้ แม้เพียงสักก้าวหนึ่ง คน ๆ นั้น ก็พร้อมที่จะระเบิดเสียงเชียร์ ชื่นชม ตื่นเต้นกับสิ่งที่เราทำ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเราโตขึ้น และตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง.. คงจะดีไม่น้อย ถ้าเรายังมีคน ๆ นั้นอยู่ในชีวิต
ในขณะที่ James Dyson เชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ความล้มเหลว คือสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้เลยกับความสำเร็จ เวลาที่ Prototype เขาสำเร็จหรือคืบหน้า เขาก็ฟินนะ แต่ในเวลาล้มเหลวเขาก็ยิ่งฟิน !! เพราะมันยิ่งทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า เขาจะพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ?
นี่คือประโยคที่ James Dyson ได้กล่าวไว้ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อของเขาได้อย่างชัดเจน แต่แน่นอนว่าความ "เชื่อมั่น" นี้ต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เขามองเห็นแล้วว่า มันเป็นไปได้ และสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ เท่านั้น ห้ามมโน !! เพียงแต่ว่า การที่จะสรรค์สร้างสิ่งใหม่ สิ่งประดิษฐ์ โปรดักส์ หรือนวัตกรรมที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน นั้นก็มีราคาที่เราจำเป็นต้องจ่ายด้วยเช่นกัน
ดังนั้นคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ข้อแรกคือ สิ่งนี้มันมี "คุณค่า" หรือ "ปลายทาง" เมื่อเราทำมันสำเร็จ สิ่งนี้มันใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ และมันสำคัญมากพอที่เราจะ "จ่าย" มันด้วยชีวิตไหม ?
สำหรับ James Dyson เมื่อเขาพร้อมที่จะ "จ่าย" มันด้วยชีวิต และความล้มเหลว ก็เป็นเพียงของหวานสำหรับเขาแล้ว สิ่งที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเวลา และเงินทุนเท่านั้น..
ที่มา : https://kknews.cc/home/oqypmb5.html
ในตอนแรกเขาได้รวบรวมเงินทุนและทีมงาน ที่พร้อมสานต่อความสำเร็จจากโปรเจค Ballbarrow มาร่วมพัฒนา Prototype เครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงผ้าไปทีละนิด ๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี.. ปีแรกผ่านไป เข้าสู่ปีที่สอง และเมื่อเข้าสู่ปีที่สาม Project ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ.. จากเป้าหมายที่จะสร้าง Innovation เครื่องดูดฝุ่นที่ไม่ต้องใช้ถุงผ้าเครื่องแรกของโลก เริ่มกลับกลายเป็นดั่งฝันร้าย..
ในช่วงแรก James Dyson เคยไปถามผู้เชี่ยวชาญทางด้าน "พลศาสตร์ของไหล" ว่าเราจะสามารถสร้างลมหมุนแบบ Cylone ในพื้นที่เล็กได้หรือไม่ ?
คำตอบที่ได้คือ "ไม่"
ปรกติถ้าเป็นคนทั่วไปคงจะล้มเลิกไปแล้ว เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะทำได้ แต่ James Dyson ยังคงยืนยันที่จะทำต่อไป ถึงแม้ว่าในตอนที่ล้มเหลวครั้งที่ 2,000 กว่า ๆ เขาต้องเริ่มทุบกระปุก คุ้ยหาเศษเหรียญเพนนีในบ้าน เพื่อนำมาจ่ายค่าวัสดุ และทีมงานในการสร้าง Prototype เครื่องต้นแบบ และถึงแม้ว่าในครั้งที่ 3,000 กว่า ๆ ภรรยาของเขาซึ่งเป็นครูสอนศิลปะ ต้องตระเวนสอนพิเศษตามบ้าน เพื่อจะนำเงินมาประคับประคองให้ผลงานชิ้นนี้เดินหน้าต่อไปได้.. แม้พลังใจและความเชื่อมั่นยังไม่สั่นคลอน แต่ทุนเริ่มหมด.. นั่นทำให้เขาต้องเริ่มระดมทุนและกู้ยืมธนาคาร ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยที่จะหาใครสักคนที่เชื่อมั่นในสิ่งที่เขาทำ.. ยกเว้นเขา ทีมงาน ภรรยาและลูก ๆ เท่านั้น
จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี.. ใช้เวลากว่า 5 ปี จากกรวยกระดาษง่าย ๆ ที่ทำขึ้นจากกล่องลัง สู่การสร้าง Prototype เครื่องต้นแบบ นวัตกรรมแห่งการแก้ปัญหาเครื่องดูดฝุ่น ที่กว่า 100 ปี ไม่มีใครหาญกล้าที่จะท้าทาย ด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนนั้น "ดีขึ้นอย่างชัดเจน" ผ่านการล้มเหลวและเรียนรู้ ล้มเหลวและเรียนรู้ ต่อเนื่องกัน 5,126 ครั้ง !! หรือ 99% อย่างที่เขาเคยกล่าวไว้
จนกระทั่งในครั้งที่ 5,127 นี้เอง ที่ "กุญแจ" แห่งความสำเร็จ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ เมื่อ Prototype ต้นแบบ "เครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงผ้า" ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
และนี่คือ 1% ที่ James Dyson ทีมงาน รวมทั้งภรรยาและลูก ๆ ของเขาเฝ้ารอคอย
ในภาพยนต์เรื่อง Rocky ผลงานการแสดงและกำกับหนังเรื่องแรกของ Sylvester Stallone (ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน) เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขากำลังยากลำบาก และตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต เขาได้เขียนบทภาพยนต์ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของนักมวยวัยกลางคน คนหนึ่ง นักมวยตกอับที่แม้แต่เจ้าของค่ายก็ยังไม่เชื่อในตัวเขา ยังไม่นับรวมกับผู้คนที่มองเขาเป็นเพียงตัวตลกตัวหนึ่ง และแล้ววันหนึ่ง "ชีวิต" ก็ได้มอบโอกาสพิสูจน์ตัวให้กับเขา เมื่อเขาได้ขึ้นชกกับแชมเปียนส์โลก และผลออกมาปรากฏว่า เสมอ !! ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วอย่างยิ่ง ที่เขาจะบอกกับตัวเองและโลกว่า เขาไม่ใช่ขี้แพ้
และในวินาทีที่เขาชกเสร็จ ในขณะที่ทุกคนกำลังตกตะลึง คำแรกที่เขาตะโกนออกมาภายใต้ใบหน้าที่ปูดบวม คือ "เอเดรียน" ชื่อของภรรยาเขา ซึ่งคอยอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ
ซึ่งนี่คงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่ Deirdre Hindmarsh ภรรยาของ James Dyson ได้มอบให้กับเขาในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้น ความล้มเหลว 5,126 ครั้ง จะน่ากลัวสักแค่ไหนกัน ถ้ามีใครสักคนที่พร้อมจะ "เชื่อมั่น" และสนับสนุนเรา อย่างสุดหัวใจ
เรื่องราวยังไม่จบ การสร้าง Prototype เครื่องต้นแบบสำเร็จ เป็นเพียงประตูบานแรกที่เขาต้องฝ่าไปให้ได้ เพื่อที่จะเจอกับความท้าทายใหม่ ซึ่งถือเป็นอีกจักรวาลหนึ่ง นั่นก็คือ “การผลิตและจัดจำหน่าย”
และด้วยสภาพการเงินของ James Dyson และครอบครัวในขณะนั้น ที่ทุ่มหมดตัวไปกับการทดลองสร้าง Prototype ทางเลือกที่เหลือของเขาคือ ขอทุน Venture Capital หรือ ขาย License Technology เพียงเท่านั้น
สำหรับคุณ “คุณค่า” ของสิ่ง ๆ หนึ่งถูกกำหนดด้วยอะไร ? ประโยชน์ ความยากในการได้มา หรือความอยากที่มีต่อสิ่งนั้น
ทางจิตใจ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะประเมินค่าออกมาได้ งั้นถามใหม่ ถ้าคุณเป็นนักลงทุน แล้ว James Dyson นำ Prototype เครื่องดูดฝุ่นที่เป็นสุดยอดนวัตกรรม ที่ 100 ปี ไม่มีใครทำได้มาเสนอ คุณจะให้มูลค่า หรือ ราคาของสิ่ง ๆ นี้ เท่าไร ?
สุดยอดนวัตกรรมก็เป็นสิ่งหนึ่ง แต่การจะขายได้ไหมนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครฟันธงได้ ใช่ไหม ?
แล้วยิ่งการขอทุนจาก Venture Capital ในยุคที่ผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า Start Up เหมือนในปัจจุบัน ก็ไม่แปลกเลยที่ James Dyson จะโดนปฏิเสธ 2 ครั้ง นั่นก็คือ ครั้งแล้ว กับครั้งเล่า.. ด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือเขาไม่มีนักการตลาด และนักการผลิตมืออาชีพอยู่ในทีม มีแต่ Designer และ Engineer ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อว่า นวัตรกรรมนี้จะถูกผลิตขึ้นได้จริง ๆ จากตัวเลขหลักแสนปอนด์ที่ James Dyson ต้องการเพื่อจ่ายค่าแม่พิมพ์ในการผลิต สู่ 30,000 ปอนด์ที่นักลงทุนยอมจ่าย แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย แต่อย่างน้อยก็ยังเพียงพอให้จ้างทนายเพื่อจดสิทธิบัตร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยแผลเดิมจากโปรเจค Ballbarrow เมื่อได้เกราะคุ้มภัยแล้ว ก็ได้เวลาลุยทางรอดสุดท้าย นั่นก็คือขาย License ให้ได้นั่นเอง
ที่มา : https://zhuanlan.zhihu.com/p/340598016
“เสียใจด้วยคุณไม่ได้ไปต่อ”
ดั่งคำพูดสุดคลาสสิคในรายการเกมโชว์ เพียงแต่สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชีวิตจริงเมื่อ James Dyson ได้ตระเวนเข้าพบกับผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่มากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Philips, Electrolux, Hoover, Amway และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ทุก ๆ ที่ลงเอยที่ว่า.. “สนใจแต่ไม่เอา”
เพราะการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่นั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงมหาศาล และถ้าผู้ผลิตจะต้องหยุดสายพานการผลิตสินค้าที่ “ขายได้อยู่แล้ว” ในตอนนั้น มาทำสินค้าใหม่ที่ไม่มีประวัติยอดขายใด ๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง นี่เป็นเหตุผลที่เขาเข้าใจได้ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ก็คือ เพราะเครื่องดูดฝุ่นของ James Dyson นั้น สุดยอดดดดดดดดดดดดด เกินไป !!
คือเรียกได้ว่าถ้าเครื่องดูดฝุ่นนี้ถือกำเนิดและจัดจำหน่ายได้จริง บริษัท Hoover บิดาผู้ให้กำเนิดเครื่องดูดฝุ่นถุงผ้า และธุรกิจถุงกระดาษเก็บฝุ่นแบบใช้ทิ้งแล้วซื้อซ้ำ ที่มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะนั้น เตรียมตัวสั่นสะเทือนได้เลย นี่คือผู้ท้าชิงที่จะให้เกิดขึ้นไม่ได้โดยเด็ดขาด !!
“ทุกอย่างมีเวลาของมัน แม้ในค่ำคืนที่ยากจะพ้นผ่าน พรุ่งนี้ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่เสมอ”
แม้ในอังกฤษจะไร้หนทางไปต่อ แต่ท้ายที่สุดในช่วงปี 1983 โรงงาน Zanussi (บริษัทเจ้านายเก่า ที่ทำ Seatruck) ใน Italy ได้เห็นคุณค่า และยอมเสี่ยงจ่ายค่าแม่พิมพ์ราว 5 แสนปอนด์ หรือประมาณ 22 ล้านบาทในเวลานั้น ผลิตเครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงผ้าของ James Dyson เพื่อมาลองขายบน Catalog ของบริษัท Kleeneze ในนาม “Kleeneze Rotork Cyclon 1000A” และนี่เป็นครั้งแรกของโลก ที่ได้รู้จักกับเครื่องดูดฝุ่นสุดยอดนวัตกรรมพลัง Cyclone !! ด้วยตัว Body สีชมพูสามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพิงกำแพงเหมือนเครื่องดูดฝุ่นถุงผ้า บวกกับสายสีม่วงสุดแซ้บ บนรูปทรงที่อีกนิดคงจะ R2D2 ในหนังเรื่อง Star Wars
พร้อมถังเก็บฝุ่นกึ่งใส ที่ผู้ผลิตถ้าไม่ไว้ใจ ก็คงต้องตั้งคำถามว่า ใครหนอจะอยากเห็นฝุ่น แต่แน่นอน หากคิดแบบ James Dyson ก็ต้องเอาให้เห็นสิ เอาให้เห็นกันจะ ๆ ตำตาไปเลย ว่าลมหมุนแบบ Cyclone ในกรวยคว่ำมันทำงานยังไง !! และแม้ฝุ่นในถังมันจะเต็มแต่มันไม่อุดตัน เครื่องก็ยังดูดฝุ่นเข้าไปได้อยู่ดี ไม่ต้องถอดออกมาตบปัดเหมือนเคย และถ้าคุณไม่ขี้เกียจจนเกินไปก็ถอดถังออกไปเทฝุ่นทิ้งแบบง่าย ๆ นี่แหละคือเครื่องดูดฝุ่น คุณค่าที่คุณแม่บ้านคู่ควร !!
แม้เครื่องดูดฝุ่นเครื่องนี้จะดียังไง แม้คุณค่าของมันจะมากสักเพียงไหน แต่ในความเป็นจริง เจ้า Kleeneze Rotork Cyclon 1000A ถูกผลิตออกมา และขายได้เพียง 500 เครื่องเท่านั้น.. อย่างว่า “ทุกอย่างมีเวลาของมัน” แม้จะล้มเหลวแต่ James Dyson ยังสู้ต่อ ในเวลานั้นเขาได้ส่งต้นแบบเครื่องดูดฝุ่น Cyclone ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ เจ้าพ่อแห่งการขายตรงอย่าง Amway และแน่นอน ถูกปฏิเสธเหมือนเช่นเคย
ทุกอย่างเหมือนจะเป็นปรกติ ถ้าไม่เพียงแต่ ในเดือนมกราคมปี 1985 Amway ได้ปล่อยเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้ถุงผ้า.. โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีลมหมุมแบบ Cyclone ที่สามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพิงกำแพง..
พร้อมถังเก็บฝุ่นทรงกรวยคว่ำกึ่งใส ที่ถ้าคุณไม่ขี้เกียจจนเกินไป ก็ถอดถังออกไปเทฝุ่นทิ้งแบบง่าย ๆ ในนาม Amway CMS1000 ที่เรียกได้ว่าไม่เหมือนของ James Dyson ตรงไหนเอาปากกามาวงได้เลย !!
แม้ James Dyson จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการถูกปฏิเสธเชิงธุรกิจ แต่กับการ Copy ผลงาน นี่เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้โดยเด็ดขาด !! และแน่นอนหนึ่งเดือนหลังจากที่ CMS1000 ออกสู่ตลาด James Dyson ก็ได้ฟ้องร้อง Amway ฐานละเมิดเทคโนโลยีที่เขาจดไว้ในสิทธิบัตร ซึ่งเงินที่นำมาจ้างทนายคือเงินส่วนแบ่งอันน้อยนิด ที่เขากระเบียดกระเสียรแบ่งจากค่า License การขายเครื่องดูดฝุ่น 500 เครื่อง มันไม่ง่ายเลยจริง ๆ ที่คนธรรมดาตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ต้องต่อสู้ฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เพื่อ “ปกป้องผลงาน” ที่มาจากหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และมันสมอง ที่เดิมพันด้วยชีวิตของเขาและครอบครัว เขาจำเป็นต้องทำ
ในระหว่างที่เรื่องราวกำลังยืดเยื้ออยู่นั้น James Dyson ก็ยังคงตระเวนเสนอขาย License อยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่า ผลงานของเขานั้นมี “คุณค่า” และเป็นสิ่งที่โลกใบนี้ต้องการจริง ๆ จนกระทั่งบริษัท Apex ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น ยอมตกลงซื้อ License เทคโนโลยีของเขา และลงทุนค่าแม่พิมพ์ผลิตเครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงผ้าในชื่อ “G-force”
แม้หน้าตาจะคล้าย Kleeneze Rotork Cyclon 1000A ที่ขายได้เพียง 500 ตัว แต่ครั้งนี้มาในสีชมพูที่จัดจ้านกว่า พร้อมกับตลาดที่เต็มไปด้วย Early Adopter ของญี่ปุ่น ถึงแม้ G-force จะเปิดตัวด้วยราคาสุดโหดที่ 6 หมื่นบาทต่อเครื่อง !! ซึ่งแพงกว่าเครื่องดูดฝุ่นถุงผ้าแบบเดิม ๆ เป็นเท่าตัว แต่กระแสตอบรับในญี่ปุ่น กลับสวนทุกทฤษฎีการตลาด G-Force ขายดีมากกกกกกก !! มากซะจนรายได้จากส่วนแบ่งยอดขาย ส่งผลให้ James Dyson ที่ลืมตาไปแล้วได้อ้าปากมีเงินพอจัดตั้งบริษัท Dyson Appliances Limited ในปี 1991 ซึ่งเป็นปีที่ เจ้า G-force ชนะรางวัลการออกแบบ International Design Fair Prize ด้วยนั่นเอง
"ทุกอย่างมีเวลาของมัน" และนี่คือแสงอาทิตย์อุทัยแรก ที่ส่องสว่างลงมาสู่ชีวิตของ James Dyson อย่างแท้จริง !! เมื่อชาวญี่ปุ่นได้รู้จักกับ “G-Force” ก็ถึงเวลาที่คนทั้งโลกจะได้รู้จักกับ Dyson สักที
หลังเปิดบริษัท Dyson พัฒนาเครื่องดูดฝุ่นต่อ และจากความเจ็บปวดทั้งหมดที่เผชิญมา Dyson ยุติการขาย Licensing ในทันที เหลือเพียงหา Supplier ผู้ผลิตชิ้นส่วน และโรงงานฉีดพลาสติกเจ้าแรกที่ Dyson ยอมส่ง Drawing ให้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องดูดฝุ่นให้ คือ Phillips Plastics
ที่มา : https://nymag.com/.../james-dyson-on-5-126-vacuums-that...
ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนโดยสิ้นเชิง Phillips Plastics มีสิทธิเฉพาะผลิตพาร์ทพลาสติกเท่านั้น ที่เหลือ Dyson มีสิทธิในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และ Dyson ได้เปิดตัวเครื่องดูดฝุ่น Cyclone ภายใต้บริษัทตัวเองเป็นครั้งแรก ในชื่อ “DA-001” ด้วยตัวเครื่องสีเทาเหลือง ตั้งตรงได้ไม่ต้องพิงกำแพง แถมพิเศษกว่าใครด้วยถังพลาสติกใสแจ๋ว โชว์ระบบ Cyclone ให้เห็นฝุ่นที่ถูกดูดกันแบบเต็ม ๆ ตา
และ DA-001 นี้ คือตัวแทนคำประกาศกร้าวจากผู้ท้าชิง ถึงบริษัทที่เป็นเจ้าแห่งเครื่องดูดฝุ่นถุงผ้าแบบเดิม ๆ ว่าถึงเวลาของ Dyson แล้ว !!
หลัง DA-001 ได้ลงสู่ตลาดไม่นาน แม้บริษัท Phillips Plastic พยายามเจรจาดีลใหม่กับ Dyson แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะ Dyson ไม่มีความจำเป็นต้องง้อผู้ผลิต ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของนวัตกรรมเลยแม้แต่น้อย !! แม้ Phillips Plastic จะพยายามโต้กลับด้วยการล้มดีลการผลิต แต่ Dyson ก็ไม่แคร์ แค่ไปตั้งไลน์การผลิตแห่งใหม่ที่เมือง Chippenham ใน Wiltshire ของประเทศ England และเปลี่ยนชื่อรุ่น จาก DA-001 เป็น DC-001 แค่นั้น
กลุ่มลูกค้าของ Dyson เริ่มดำเนินการไต่จาก Early Adopter มาสู่ Majority อย่างต่อเนื่อง ด้วยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดของ Hoover จาก 25% ที่เคยครองตลาดเครื่องดูดฝุ่นด้วยเทคโนโลยีถุงผ้า เหลือเพียง 10% !!
นี่คือจุดพลิกเกมอย่างแท้จริง โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เหมือนการมาของ iPhone ที่คนจะไม่กลับไปใช้มือถือแบบปุ่มอีก ชีวิตคือการก้าวไปข้างหน้า ผู้คนจะไม่ยอมกลับไป ตบปัด ทำความสะอาดฝุ่นจากถุงผ้าอีกต่อไปแล้ว !!
ท้ายที่สุดบริษัทผู้ให้กำเนิดเครื่องดูดฝุ่นแบบถุงผ้า ก็ต้องยอมต้องตัดช่องน้อยแต่พอตัว เปิดตัว Hoover Vertex V2000 ในปี 1999 ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับของ Dyson แม้จะมีคนออกมาเถียงแทนว่าไม่เหมือน แต่ด้วยสิทธิบัตรอันแข็งแรงของ Dyson บริษัท Hoover ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องดูดฝุ่นก็โดนฟ้องร้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายไปตามระเบียบ
ซึ่งทนายของ Dyson ออกมาเปิดเผยภายหลัง ถึงเหตุที่ศาลตัดสินให้บริษัท Hoover ต้องชดใช้ฐานละเมิดสิทธิบัตรเนื่องจากเห็นถึงความพยายามอย่างเข้มข้น ของ James Dyson ที่ใช้เวลากว่า 5 ปี และต้องเผชิญกับความล้มเหลวถึง 5,126 ครั้ง กว่าจะได้มาซึ่งเทคโนโลยีนี้
ที่มา : https://oldhoovers.blogspot.com/.../brochure-dyson-da001...
“หากถามว่าสิ่งมีค่าที่สุดของต้นไม้คืออะไร ใคร ๆ ก็คงตอบว่า ‘ผล’ แต่ความจริงแล้วคือ ‘เมล็ดพันธุ์’ ต่างหาก”
Friedrich Nietzsche (ฟรีดริช นีทเชอ) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้
ปัจจุบัน James Dyson เป็นเศรษฐีระดับ Billionaire ที่เป็นเจ้าของบริษัท Dyson แต่เพียงผู้เดียว และยังเป็นเจ้าของเครื่องบิน private jet จาก Gulfstream G560 นี่คือ ‘ผล’ ที่เกิดจาก ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่เขาต้องเพาะเลี้ยงมันด้วยชีวิต
สามารถอ่านบทสัมภาษนักออกแบบเครื่องบิน Gulfstream ได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/blog/kevinsethapun
James Dyson
ใช้เวลากว่า 5 ปี เพื่อสร้าง Prototype เครื่องต้นแบบ
อีก 5 ปีที่ถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วนในการขาย License เพื่อจะได้บริษัทที่ผลิตมันออกมาวางขายเป็นครั้งแรก
และอีก 5 ปีที่ต้องต่อสู้กับการถูก copy ผลงาน และค่อย ๆ สะสมทุนจากส่วนแบ่งการขาย G-Force เพื่อมาเปิดบริษัท Dyson เป็นของตัวเอง
15 ปี คือระยะเวลาทั้งหมด ที่เขาฟูมฟัก ‘เมล็ดพันธุ์’ นั้นด้วยชีวิต
ติดตามบทความเกี่ยวกับการออกแบบอื่น ๆได้ที่ :https://www.class-a-solution.com/blog
ข้อมูลโดย : Pongnut Krainichakul
เรียบเรียงโดย : Mailylin