James Dyson (part 2) 7 ขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ Innovation ของสุดยอดนักออกแบบผู้บดขยี้ Pain Point ให้เป็นผุยผง
"เพราะเพลงที่ดีที่สุดยังไม่ถูกแต่งขึ้น และหนังสือที่ดีที่สุดก็ยังไม่ถูกประพันธ์ถึง"
นั่นคือคำตอบว่าทำไมต้อง Innovation หรือ Why นวัตกรรม !?
ดังที่ Dyson เคยกล่าวไว้ว่าสำหรับเขา Innovation คือการลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ หรือ การบริการ "ดีขึ้นอย่างชัดเจน" ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปคำว่า Innovation หรือนวัตกรรมนั้น มิได้ถูกยึดโยงอยู่กับเทคโนโลยี, สิ่งประดิษฐ์, หรือแวดวงการออกแบบเท่านั้น แต่หมายถึงทุกสิ่งที่เราทำ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร ? เราทุกคนล้วนมีผลิตภัณฑ์และการบริการเป็นของตัวเอง !! โดยมีเจ้าของบริษัทที่ชื่อว่า 'เรา' เองนี่แหละ คุณสามารถทำในสิ่งที่คุณทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ และคุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ใน Version ที่ดีกว่า เพียงแต่คุณต้องเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าสิ่งที่ดีที่สุดยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้น และคำตอบเดิม ๆ ที่มีอยู่หรือทำอยู่นั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด !!
โลกนี้ยังมีพื้นที่สำหรับคำตอบที่ท้าทายแปลกใหม่ และสร้างสรรค์จากคุณอยู่เสมอ
"It's more fun to be a pirate than to join the navy"
จะมัวเป็นทหารเรือไปทำไม ? ในเมื่อคุณก็เป็นโจรสลัดได้ แถมยังสนุกกว่าด้วย !!
Steve Jobs เคยกล่าวไว้
แน่นอนว่า Class A Solution เป็นบริษัท Research & Development (R&D) ที่เน้นการพัฒนา Product โดยใช้หลัก Design Thinking อย่างเข้มข้น ซึ่งถ้าใครอ่านบทความนี้จนจบจะเข้าใจเนื้องานของเราได้แบบไม่ยากนัก โดยเนื้อหาที่เรากำลังจะนำเสนอนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือคุณจะทำอะไร เพียงคุณสนใจในนวัตกรรม หรือกำลังหาทางทำบางอย่างให้ "ดีขึ้นอย่างชัดเจน" แล้วนั้น ก็สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์ หรือ Translate เนื้อหาของบทความนี้ เข้ากับสิ่งที่คุณทำได้ เพราะ
"กิ่งก้านใบแห่งนวัตกรรมนั้น ล้วนมาจากรากเดียวกัน"
ขอเชิญพบกับที่สุดแห่งกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่กลั่นมาจากชีวิตเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของ James Dyson สุดยอดนักออกแบบ/นักประดิษฐ์/วิศวกรผู้เป็นตำนาน เรื่องราวจะเป็นเช่นไรขอเชิญทุกท่านร่วมดำดิ่งไปกับเราได้ ณ บัด Now !!
ส่วนใครยังไม่รู้จัก Dyson เชิญอ่าน Part.1 ก่อนได้ที่ลิงค์นี้
https://www.class-a-solution.com/.../james-dyson-part-1...
Class A Solution ภูมิใจนำเสนอ
"Dyson Design Process 7 Step
7 ขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สไตล์ Dyson"
1. Brief
"เราไม่มีทางได้คำตอบที่ถูก จากโจทย์ที่ผิด"
Brief คือ การตั้งโจทย์จาก 'ปัญหา' หรือ 'PainPoint' บางอย่างที่เราเล็งเห็นหรือรู้สึกร่วมไปกับมัน ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ตรงคำบอกเล่าของใครบางคน หรือ Research ก็ได้ เพียงแต่เราต้อง Make Sure ให้ได้ว่า คนอื่นก็มองสิ่งนี้เป็นปัญหาหรือเจ็บปวดกับสิ่งนี้จริง ๆ มิใช่การมโนหรือรู้สึกไปเองคนเดียวของเรา !!
เพราะสิ่งนี้แหละจะเป็นตัวกำหนด Demand ตั้งแต่วันที่สินค้าหรือบริการของเรายังไม่คลอดออกมา
ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรตั้งคำถามคือ ปัญหา หรือ Pain Point นี้มัน 'Mass' พอไหม ? และปัญหานี้มัน 'สำคัญ' มากพอที่ต้องแก้รึเปล่า ?
เพราะความ Mass จะสัมพัทธ์กับ Demand ว่าจะมากหรือน้อย ส่วนความ 'สำคัญ' จะสัมพัทธ์กับ ของมันต้องมี (ปัญหานี้ต้องแก้ไข) หรือมีก็ดี (แก้ได้ก็ดี) หรือไม่จำเป็นต้องมี (จะแก้ไปทำไม(วะ) !!
ซึ่งแน่นอนว่า หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายหรือการใช้ชีวิต มันสำคัญและมันจำเป็นต้องมี
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศของผู้ป่วย Covid-19 ที่ Mass ระดับโลก ซึ่งส่งผลให้ Demand ของ Mask เพิ่มขึ้นมหาศาล ซ้ำยังสำคัญมากในระดับที่จำเป็นต้องมี (ปัญหานี้ต้องแก้ไข)
ส่วนความ Mass เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายสามารถชี้วัดเป็นตัวเลขได้ถ้า Data และวิธีเก็บ Data ถึง แต่เรื่องความสำคัญนี่สิ ‘ยากแท้หยั่งถึง’ ขึ้นอยู่กับว่าสำคัญของใคร ?
'ใคร' ในที่นี้เราสามารถแบ่งตามประเภทของ Market Segmentation ได้เป็น
Demographic (ประชากรศาสตร์)
Behavioral (พฤติกรรมของผู้บริโภค)
Geographic (ลักษณะทางภูมิศาสตร์)
Psychographic (จิตวิทยา)
**สามารถอ่านรายละเอียด Market Segmentation แบบละเอียดได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้ https://www.oberlo.com/blog/market-segmentation
ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ
"ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการใด ที่สามารถรองรับทุกโจทย์ความต้องการบนโลกได้พร้อมกันในทีเดียว"
นั่นคือสาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องแบ่งกลุ่มคนตามลักษณะเฉพาะ เพราะคนแต่ละกลุ่มล้วนมีปัญหา และความต้องการที่แตกต่างกัน ดังคำกล่าวที่ว่า
"คนเหมือนคนแต่คนไม่เหมือนกัน"
สิ่งสูงค่าของคน ๆ หนึ่ง อาจไร้คุณค่าโดยสิ้นเชิงสำหรับคนอีกคนหนึ่ง
ดังนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้คือ จงเลือกกลุ่ม Target เฉพาะที่เราสามารถเข้าถึงหัวจิตหัวใจ เข้าถึงปัญหาเข้าถึงความเจ็บปวดหรือความต้องการ ที่เราสามารถตอบสนองมันได้อย่างแท้จริง !!
แล้ว Brief ที่ดีล่ะหน้าตาควรจะเป็นอย่างไร ?
"เราจะทำอย่างไรให้เครื่องดูดฝุ่น 'เล็กที่สุด' เท่าที่จะเป็นไปได้ ? "
นี่คือ Brief ของ Dyson ในวันที่เขามุ่งมั่นที่จะผลิต DC-012 โดยมี Target เฉพาะเป็นชาวญี่ปุ่น !!
การเลือก Target เฉพาะนี้อาจเพื่อตอบแทนชาวญี่ปุ่น หรืออาจเพราะ Dyson เข้าถึงหัวจิตหัวใจความต้องการของชาวญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งก็ไม่ทราบได้ เพียงแต่นี่คือสุดยอด Brief !! ที่ 'เคลียร์ชัดและซัดตรงจุด'
แล้วมันสุดยอดยังไง ?
ประเด็นแรกด้วยคำว่า "เล็กที่สุด" เท่าที่จะเป็นไปได้นี้ ทำให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรดักส์ ไม่เฉพาะแค่ Designer แต่รวมถึงทีม Engineer และทีมงานคนอื่น ๆ ได้เห็นภาพและเป้าหมายที่ตรงกัน โดยไม่คลุมเครือและไม่ต้องตีความเป็นอื่นอีก !!
ตัวอย่าง Case คลาสสิคที่ Designer แทบทุกคนต้องเคยเจอคือ "ทำให้มันสวย" ซึ่งพอได้ Brief แบบนี้มา แทนที่จะเอาเวลาไปคิดงาน ต้องมานั่งตีความหรือเดาใจกันก่อน เพราะสวยของพี่หรือของผม หรือของ User ก็คงไม่เหมือนกัน จริงไหม !?
ประเด็นต่อมาคำว่า 'ซัดตรงจุด'
ถ้าใครเคยไปญี่ปุ่นจะรู้เลยว่า บ้านมันเล๊กกกก เล็กแบบเข้าห้องน้ำปิดประตู นั่งชักโครกแล้วอีกคืบหนึ่งเข่าสะกิดประตู !! ก็ลองจินตนาการดูว่าห้องอื่น ๆ จะเหลือพื้นที่ขนาดเท่าไร ? ครั้นจะมีเครื่องดูดฝุ่นขนาด 'บักเอ้ก' สักเครื่อง เพื่อความสะดวกสบายก็ต้องมานั่งกังวลใจอีกว่า วาตาชิวะหรือข้าพเจ้าจะเก็บมันไว้ตรงไหนดี !?
ความเล็กของพื้นที่นี้เป็นปัญหาระดับชาติของญี่ปุ่น !! ซึ่งถ้าใครไม่เข้าใจปัญหา Pain Point หรือความเจ็บปวดนี้ ก็โบกมือบ๊ายบายซาโยนาระตลาดญี่ปุ่นได้เลย ถามว่าการเจาะจง Target เฉพาะแค่ชาวญี่ปุ่นมันไม่แคบไปเหรอ ? ต้องขอบอกว่า เพียง 'ตลาดญี่ปุ่น' ก็มีศักยภาพมากพอแล้ว
และจริง ๆ แล้ว Target แท้จริง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำว่าญี่ปุ่น คือทุกประเทศที่มีปัญหาเรื่องขนาด
'ความเล็กของพื้นที่'
ดังนั้นถ้าเจาะตลาดญี่ปุ่นได้จริง ประเทศอย่างไต้หวัน, ฮ่องกง, เกาหลี, หรือประเทศใด ๆ ที่มีปัญหานี้ ก็ต้องเสร็จ Dyson ด้วยเช่นกัน !!
"เมื่อคุณเข้าใจอย่างแท้จริง คุณจะสามารถอธิบายมันด้วยภาษาแบบง่าย ๆ ได้"
ในความเรียบง่ายนั้นมีความลึกซึ้งซ่อนอยู่เสมอ ดั่งตัวอย่าง Brief ของ Dyson ที่เคลียร์ชัดและซัดตรงจุด ซึ่งความเคลียร์ชัดนี้เกิดจากการเลือกใช้คำที่ทำให้ เห็นภาพ อย่างคำว่า 'เล็กที่สุด' หรือการใช้คำว่าญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้เห็นภาพของปัญหาประเทศที่มี 'พื้นที่ขนาดเล็ก' ได้อย่างชัดเจน ส่วนการ 'ซัดตรงจุด' นั้น เกิดจากการเลือกที่จะแก้ปัญหา หรือเลือก Pain Point ที่เป็นหัวใจสำคัญออกมา เพียงแค่ประเด็นเดียว
ท้ายสุดในหัวข้อ Brief นี้ เราขอเน้นย้ำว่า ‘สิ่งที่น่ากลัวที่สุด’ จากการตัดสินใจเลือก Brief ที่ผิดนั้นเหมือนการพยายามเข็นครกขึ้นภูเขาจนสำเร็จ.. แต่ดันผิดลูก !!
'เราไม่มีทางได้คำตอบที่ถูก จากโจทย์ที่ผิด'
2. Research
Research สำหรับ Dyson คือการค้นหากุญแจที่ชื่อว่า 'ข้อมูลเฉพาะ' ที่จะช่วยให้เราสามารถพิชิตโจทย์หรือ Brief ที่เราตั้งไว้ได้
โดยกุญแจหรือ 'ข้อมูลเฉพาะ' นี้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับโจทย์หรือ Brief และผันแปรตามผลิตภัณฑ์หรือการบริการของเรา แม้เป็นโปรดักส์เดียวกันแต่ถ้าโจทย์หรือ Brief ต่างกัน ก็ต้องการ 'กุญแจ' ที่แตกต่างกันเหมือนในช่วงแรกโจทย์ของ Dyson ที่จะสร้าง Cyclone ในพื้นที่ขนาดเล็ก กับโจทย์ที่จะสร้างเครื่องดูดฝุ่นที่เล็กที่สุด แม้เป็นเครื่องดูดฝุ่นเหมือนกัน แต่โจทย์ต่างกัน ก็ย่อมต้องการกุญแจหรือชุดข้อมูลเฉพาะที่แตกต่างกัน
ประเด็นคือเราต้องรู้ให้ได้ว่า 'ข้อมูลเฉพาะ' ชุดใดที่ส่งผลที่สุดต่อโจทย์ของเรา หรือพูดอีกอย่างคือ
"เราต้องรู้ว่าเรากำลังหากุญแจอะไรอยู่ ? "
อย่างในกรณีของ Dyson โจทย์ความเล็กที่สุดของเครื่องดูดฝุ่นนั้น กุญแจสำคัญอยู่ที่ 'เทคโนโลยี' ต่อให้ Sketch Design Form หรือปรับฟังค์ชันการใช้งานใด ๆ ก็ตาม ท้ายสุดมันจะเล็กลงไม่ได้เลย ถ้าขนาดหรือเทคโนโลยีมอเตอร์ที่ใช้ มันยังใหญ่เท่าเดิมอยู่ นี่คือโจทย์หรือข้อจำกัดเฉพาะ นี่คือชะตาที่มิอาจเลี่ยงของ Dyson เพราะ 'เทคโนโลยี' คือตัวแปรสำคัญที่ขวางกั้นเป้าหมาย เรื่องการทำเครื่องดูดฝุ่นให้เล็กของเขาอยู่
ดังนั้นสิ่งที่ Dyson มองหาเพื่อบรรลุโจทย์ของเขา จึงไม่ใช่การ Research โดยการสอบถามข้อมูลจาก User แบบคนอื่น ๆ (สอบถามก็ไม่ผิดนะถ้ามันคือกุญแจที่จำเป็นต้องใช้ในการตอบโจทย์) แต่คือการ Focus เทคโนโลยีที่เขามีในมือ หรือการตามหาเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตามที่จะสามารถบรรลุโจทย์หรือ Brief ที่เขาตั้งไว้ได้ !!
ซึ่งพอ Brief ของ Dyson เคลียร์ชัดขนาดนี้ ทุกคนในทีมต้องร่วมกันค้นหากุญแจ หรือ Research ข้อมูลเฉพาะว่า 'เทคโนโลยีทั้งหมดที่มีบนโลกนี้'
การจะทำให้เครื่องดูดฝุ่นเล็กลงมีอะไรบ้าง?
มีอะไรได้อีก?
Core เทคโนโลยีของเขาคืออะไร ?
ยังขาดกุญแจดอกไหนอีกเพื่อที่จะไขประตูบานนั้น?
นี่เป็นสิ่งที่ทีมวิจัยมอเตอร์, แบตเตอรี่, หรือทีมวิจัยหลังบ้านใด ๆ ของ Dyson ต้องรับไม้ Research ต่อ และถ้า Research สืบค้นจนพบว่า ไม่มีกุญแจหรือข้อมูลเฉพาะของเทคโนโลยีใด ๆ บนโลกนี้ ที่จะบรรลุโจทย์ข้อนี้ได้ Dyson และทีมก็จะร่วมกันสร้างข้อมูลเฉพาะ หรือกุญแจดอกใหม่นี้ขึ้นมาเอง !!
ซึ่งท้ายที่สุดกุญแจดอกที่ว่านี้ Dyson และทีมใช้เวลาในการสรรค์สร้างร่วมกันหลายสิบปี และเมื่อสำเร็จมันยิ่งใหญ่สะเทือนวงการ ถึงขนาดมีคนขนานนามว่า นี่คือ "Alien Technology" หรือเทคโนโลยีที่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกจะสร้างขึ้นได้ !! ซึ่งเราจะกล่าวถึงใน Dyson พาร์ทต่อ ๆ ไป
3. Idea Development
Idea Development คือการหาทางพิชิตโจทย์ หรือ Brief ที่ตั้งไว้ด้วย 'กระบวนการทางการออกแบบ'
ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนในทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ประกอบด้วย Engineer และ Designer เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
Dyson ได้กล่าวว่าจุดนี้เป็นจุดที่ Studio ของเขาแตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน ในขณะที่ Studio อื่น ๆ ต้องการเห็นความสวยงามของตัวโปรดักส์ก่อน โดยทุ่มกองกำลัง Designer ไปรุมสร้าง Beautiful Sketch แต่ Dyson จะไม่สนใจเรื่องความสวยงามเลย ช่างแม่มความสวย (ยัง)ไม่จำเป็น !!
แน่นอนว่า 'ความสวยงาม' เพื่อความน่าใช้ก็เป็น Function หนึ่งที่จำเป็น เพียงแต่ ‘คุณค่า’ ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้น อยู่ที่ Function การใช้งานมิใช่หรือ ? ถ้ามันสวยน่าใช้แต่ใช้งานไม่ดี หรือสวยน่าใช้แต่ตอบโจทย์การใช้งานของเราไม่ได้ ถามว่าคุณจะเสียเงินซื้อมันเพื่อ ?
ในหลาย ๆ Case เราพบว่า นี่คือ 'กับดัก' ที่ชื่อว่าความสวยงาม ที่มักทำให้ลูกค้าหลงประเด็นจากโจทย์หรือ Brief ที่ตั้งใจไว้อยู่เสมอ และถ้าโจทย์หลักในผลิตภัณฑ์ของคุณไม่ใช่เรื่องความสวยงาม คุณจะมัวเสียเวลาทำให้มันสวยงามไปเพื่ออะไร ?
บทพิสูจน์หนึ่งของเรื่องนี้อยู่ในบทความ Blobject ของ Karim Rashid ที่เราเคยนำเสนอไป อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ Form ไม่ยอม Follow Function บทสรุปของความสวยงามสุดโต่งที่เกินหน้าการใช้งานคืออะไร ?
**อ่านต่อได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้**
https://www.class-a-solution.com/blog/karim-rashid-
อย่าง Brief นี้ถ้า Dyson ต้องการให้มันเล็ก เล็กที่สุดเท่าที่มันจะเล็กได้ !! และถ้าเล็กที่สุดในโลกมันได้ประมาณนี้ ในฐานะขุนพล Designer และ Engineer ของ Dyson จงทำยังไงก็ได้ให้เครื่องดูดฝุ่นนี้มันเล็กลงได้อีก !! โดยทุกคนที่ทำงานในทีมของ Dyson จะได้รับสมุดบันทึก RDD (Research Design Development) เพื่อบันทึกทุก Idea บันทึกทุก ‘ความน่าจะเป็น’ ที่อาจนำไปสู่การตอบโจทย์ Brief ที่ได้รับมา (ทุก Idea ที่อยู่ในสมุดบันทึกนี้ Dyson ถือเป็นความลับของบริษัท)
ทั้งนี้ข้อจำกัดในการ Sketch ให้เล็กจะถูก Fix โดยเทคโนโลยีในขณะนั้น เช่นขนาดของมอเตอร์ที่เล็กที่สุดเท่าที่ใช้งานแล้วยังเวิร์คมันเล็กได้เท่านี้ หรือเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อดูดที่เล็กสุด สั้นสุดแล้วยังดูดได้ Flow มันได้ประมาณนี้
นอกเหนือจากนั้น Form ตำแหน่งการจัดวาง พาร์ทและฟังค์ชันการใช้งานต่าง ๆ จะถูกพัฒนาโดยพุ่งเป้าไปที่ ทำอย่างไรให้เล็กลงได้อีก มีอะไรตัดออกได้ มีอะไรซ่อนได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ทุกคนในทีมต้องร่วมกันค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดออกมา
และที่สำคัญคือ Sketch ไม่ต้องเสียเวลามาก เอาคร่าว ๆ พอให้เห็น Idea แล้วจงรีบไปทำ Prototype ขึ้น 3D สร้างโปรดักส์แล้ว Test กัน !! เพราะท้ายที่สุด Prototype ต้นแบบที่ออกมา จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาของแบบ Sketch ที่เราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ถ้ามันอยู่แต่ในกระดาษ หรือบนหน้าจอคอม
นี่คือวิธีการ Sketch ที่ดีที่สุดที่ Dyson 'เชื่อมั่น' และนำมาใช้ เหมือนในวันแรกที่เขาทำ Prototype เครื่องดูดฝุ่นแบบง่าย ๆ ด้วยกระดาษลัง และยังทำมาอยู่จนถึงทุกวันนี้
4. Specification
Specification หลัก ๆ จะเป็นการคุยสรุปเพื่อ 'ระบุตัวเลข' ให้ได้มากที่สุดหลังจากได้ข้อมูลและ Idea มาแล้วเพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เดินไปข้างหน้าอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
การระบุตัวเลขนี้เปรียบเสมือนดั่งชิ้นส่วนของตัวต่อ 'จิ๊กซอว์' ที่จะค่อย ๆ เผยให้เห็นภาพโปรดักส์จริงของเราทีละนิด
หลักการคือเราต้อง 'ระบุตัวเลขจริง' ให้ได้ก่อนสัก 1 ตัวเลข เพื่อเป็นตัวตั้งต้นให้เรานำไปคิดต่อในส่วนอื่น ๆ เหมือนจิ๊กซอว์ ที่พอเราวางลงไป 1 ชิ้น เราจะเริ่มเห็นภาพชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่จะประกอบอยู่รอบ ๆ ด้วยเช่นกัน การ 'ระบุตัวเลขจริง' นี้อาจอิงจากคู่แข่งในตลาด หรืออิงจากความจำเป็นในการใช้งานของ User หรืออิงจากข้อจำกัดอื่น ๆ ที่จำเป็นก็ได้ เช่น การระบุตัวเลข Performance ของเครื่องดูดฝุ่นว่าควรมีอายุในการใช้งานกี่ปี ?
สมมุติเครื่องดูดฝุ่นนี้ต้องใช้งานได้ 10 ปี ด้วยเหตุผลทางการตลาดหรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เราก็จะรู้แล้วว่า อายุมอเตอร์ก็ต้องใช้งานได้ถึง 10 ปีด้วยเช่นกัน และเรายังนำตัวเลขที่ถูกระบุนี้ไปคิดต่อในส่วนอื่น ๆ ได้อีก เช่น ถ้าเครื่องดูดฝุ่นนี้อายุ 10 ปี 'ถังเก็บฝุ่น' ต้องถูกถอดเข้า-ออกกี่ครั้งตลอดอายุการใช้งาน ? ในการคำนวนนี้เราต้องเผื่อ Use Case แบบโหดไปเลย เช่น
สมมุติคุณแม่บ้าน ๆ หนึ่งที่รักความสะอาดมากกก ดูดฝุ่นทุกวัน วันละ 2 รอบ และหนึ่งสัปดาห์ต้องถอดถังออกไปเคาะ 3 ครั้ง เท่ากับหนึ่งปี 'ถังดูดฝุ่น' จะถูกถอดออกมาทิ้งและใส่กลับประมาณ 160 ครั้ง หรือเท่ากับ 10 ปี 1,600 ครั้ง !! ตลอดอายุการใช้งานก่อนที่เราจะนำตัวเลข 1,600 ครั้งนี้ ไประบุ 'กลไก' ที่จำเป็นต้องใช้ในการถอดเข้า-ออก รวมถึงระบุเกรดพลาสติกที่ต้องใช้อีก
ซึ่งเกรดพลาสติกที่ต้องใช้เพื่อรองรับการใช้งานให้ได้ถึง 1,600 ครั้งก็จะเป็นราคาหนึ่ง หรือถ้าน้อยกว่านั้นพลาสติกไม่ต้องทนมาก ก็จะถูกลงเป็นอีกราคาหนึ่ง
ด้วยวิธีคิดนี้เราจะได้เห็นตัวเลข ‘ต้นทุน’ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพอไปรวมกับพาร์ทอื่น ๆ ของโปรดักส์ ใน Conditions ที่หลากหลาย เราจะได้ 'ราคา' ของโปรดักส์แบบคร่าว ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนต่อไป
การระบุตัวเลขนี้ยังสามารถใช้ระบุ 'ขนาด' ได้ด้วย เช่นขนาดมอเตอร์ หรือขนาดของโปรดักส์เมื่อพับเก็บสายต้องอยู่ในกล่องขนาดพื้นที่ 20x20x20 Cm ได้เป็นต้น
นอกจากต้องระบุตัวเลขทุกตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับโปรดักส์แล้ว การระบุ 'ภาพลักษณ์' ของโปรดักส์ก็อยู่ในขั้นตอนนี้ด้วย เช่น การระบุว่าหน้าตาตอนจบของโปรดักส์ Form Factor ที่น่าจะเป็น หรือระบุภาพลักษณ์ของมันว่า ควรสื่อสารออกมาในทิศทางไหน เป็นต้น
นี่คือความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ของขั้นตอน Specification ที่พอเราค่อย ๆ ต่อชิ้นส่วน 'จิ๊กซอว์ตัวเลข' มันจะค่อย ๆ เผยภาพโปรดักส์ที่จะเกิดขึ้นจริงให้เราเห็น และที่สำคัญที่สุด คือภาพตัวเลข 'ราคา' ที่จะขายพร้อมต้นทุนคร่าว ๆ ที่จะไปเคาะตัวเลขชัด ๆ อีกทีในขั้นตอนต่อไป ซึ่งตัวเลขพวกนี้บอกได้เลยว่าจะเป็นตัวกำหนด 'ชะตาชีวิต' Product ของเรา..
5. Chosen Idea
Chosen Idea คือขั้นตอนชี้เป็นชี้ตายของโปรดักส์ !! เพราะต้อง 'ตัดสินใจ' เลือกว่า Idea ไหนควรทิ้ง และ Idea ไหนที่จะได้ไป(พัฒนา)ต่อ หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดคือต้องยุบโปรเจคทิ้ง !!
โดยการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ต้องคำนึงถึงต้นทุน Product ที่เราจะขายอย่างรอบคอบ คำนึงถึงเทคโนโลยีที่ต้องเลือกใช้ในการผลิต ซึ่งก็ต้องมา บวก ลบ คูณ หาร ว่ามันจะออกมา 'ราคา' เท่าไร ? และ 'ราคา' ขายที่เคาะออกมาแล้ว มันสมเหตุสมผลมากพอที่ลูกค้าจำเป็นต้องควักเงินซื้อเจ้าสิ่งนี้ เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาไหม ?
แน่นอนว่าในการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ เราจำเป็นต้องเห็น Prototype ต้นแบบเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย ซึ่งในสมัยก่อนกว่าจะเห็น Prototype ต้นแบบได้ เราอาจต้องใช้เงินถึงหลักล้าน !! เพื่อสร้างแม่พิมพ์ ที่พอฉีดพลาสติกได้ต้นแบบออกมา แล้วพบว่ามัน Fail นี่ลมแทบจับซึ่งต่างจากสมัยนี้
ปัจจุบันคือยุคสมัยที่ Dyson กล่าวว่า "มันบ้ามาก" เพราะหากย้อนไปในยุคเริ่มต้น ที่เขาใช้กระดาษลังประกอบเข้ากับเครื่องดูดฝุ่น เพื่อสร้าง Prototype ต้นแบบแล้วนั้น
ในยุคนี้ด้วยเทคโนโลยี Rapid Prototype (RP) ที่ Dyson ใช้ Program Siemen NX เขียนแบบ ก่อนส่งเข้าเครื่อง 3D Printer ในระบบ SLS (Selective Laser Sintering) โดยใช้เทคนิค Slice File ชิ้นงาน 3D ที่ออกแบบให้แยกออกเป็นชั้น ๆ ก่อนยิงแสงเลเซอร์ใส่ผงวัสดุพลาสติกที่อยู่ในถาดตามแบบ 3D ที่ส่งเข้ามาจนกลายเป็นชิ้นงาน !! เพียงเท่านี้เราก็จะได้เห็น Prototype ต้นแบบภายในเวลาเพียง 1-2 วัน แถมประหยัดงบในการสร้างแม่พิมพ์ได้มหาศาล
ด้วยเทคโนโลยีนี้ Dyson สามารถให้ทีม Develop ทั้ง 6 ทีมพัฒนา 6 Ideas ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสียเวลา และเปลืองเงินทุนในการสร้าง Prototype ต้นแบบเหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไป และเมื่อได้เห็น Prototype ต้นแบบที่หลากหลาย ประกอบการคำนวนต้นทุนอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจสักที ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
ในภาพยนต์เรื่อง 'Saw' ภาค 1 ในห้องน้ำร้างมีชาย 2 คนถูกโซ่ล่ามไว้ที่ข้อเท้า ใกล้ตัวมีเลื่อยขึ้นสนิมเกรอะกรังวางอยู่ พวกเขาต้องเลือกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อโดยยอมตัดข้อเท้าทิ้ง หรือตายพร้อมกับข้อเท้าที่ยังคงอยู่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการ Chosen Idea ที่ใน 'บางครั้ง' เราต้องเลือกว่า จะยอมตัดโปรเจคทิ้ง(ยอมเสียงบพัฒนาที่จ่ายไปทั้งหมด) หรือเสี่ยงไปต่อโดยมีอนาคตของบริษัทแขวนอยู่
แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายเลย และถึงแม้ Dyson จะเป็นบริษัทระดับโลก แม้ในทุก Product จะผ่านการคิดค้นและพัฒนาจนถึงขีดสุด แต่ก็ไม่ใช่ทุก Product ที่จะประสบความสำเร็จ.. มีหลายครั้งที่ Dyson 'เจ็บหนัก' จากการตัดสินใจฝืนที่จะไปต่อ และมีหลายครั้งที่เขาต้องยอมตัดโปรเจคทิ้ง เพื่อจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
อย่างในกรณีของเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ DC-06 Robotic Vacuum Cleaner ที่ถูกพัฒนามาในช่วงปี 2000 ก็ต้องถูกยุบโปรเจคทิ้งในขั้นตอนนี้ เพราะเคาะราคาสุดท้ายออกมาแล้ว 'มันเกินรับไหว'และมันก็ไม่เคยได้ถูกเอาไปวางขายในตลาดเลย
ด้วยเหตุที่ DC-06 Robotic นี้โจทย์หลักคือ Sensor ต้องทำงานตรวจจับเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ซึ่งมันทำได้นะแต่เทคโนโลยีนี้มันแพงเกินจะรับไหว และถ้าจะให้มันถูกลงประสิทธิภาพก็จะไม่ตอบโจทย์การใช้งานที่ตั้งไว้อีก..
จากบทเรียนโดยตรงของ Dyson ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ถ้า 'ราคา' มันไม่ใช่แม้ Product จะดีแค่ไหนมันก็ยากที่จะขายได้สำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันถ้า Product ชิ้นนั้น มัน 'ดีเยี่ยม' และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งนวัตกรรม !! เหมือนเครื่องดูดฝุ่น G-Force ที่วางขายครั้งแรกในสมัยนั้น
ที่สุดท้ายถึงแม้มันจะแพง แต่ผู้คนก็จะยอมควักเงินจ่าย เพื่อซื้อชีวิตที่จะ 'ดีขึ้นอย่างชัดเจน' อยู่ดี
6. Product Development
Product Development คือขั้นตอนการ 'พัฒนาโปรดักส์' ที่ผ่านการตัดสินใจมาแล้วอย่างเข้มข้น โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่ การทำยังไงให้โปรดักส์ชิ้นนี้มันดีขึ้นไปอีก !! และที่สำคัญ คือต้องผลิตจริงได้ด้วย
ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาที่เหมาะสม แน่นอนว่าโดยรวม Product ที่มาถึงขั้นนี้ได้มันต้องดีในระดับหนึ่งแล้วล่ะ การ Develop จึงหมายถึงการพัฒนาปรับเปลี่ยนรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละจุด ซึ่งอาจฟังดูเล็กน้อย แต่ถ้าคุณเชื่อในประโยคที่ว่า "พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด" !! เหมือนชื่อหนังสือที่เล่าถึงปรัชญาการทำงานของ MUJI แล้วล่ะก็
นี่คือเส้นบาง ๆ ที่ยากจะข้ามผ่าน นี่คือขั้นตอนสำคัญที่จะนำพา Product ที่ดีไปสู่คำว่า Product ที่ 'ดีเยี่ยม' ก็ด้วยขั้นตอนนี้แหละ !!
เคยได้ยินคำว่า Plus Minus ( ± ) ในการเขียนแบบไหม ?
Plus Minus คือ ตัวเลขเผื่อ 'คลาดเคลื่อน' เช่น สมมุุติเราเขียนแบบน็อตตัวหนึ่ง ระบุขนาดไว้ 5 mm (±1) นั่นแปลว่า พอผลิตจริงขนาดของน็อตสามารถคลาดเคลื่อนเป็น 4 mm หรือ 6 mm ก็ได้ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไดร์เป่าผมของ Dyson 'ดีเยี่ยม' กว่าไดร์เป่าผมอื่น ๆ คือประสิทธิภาพของลม ที่เกิดจากขนาดของใบพัดที่ Fit in กับ 'ท่อ' แบบ Plus Minus Zero (± 0) เมื่อใบพัด Fit in กับ 'ท่อ' แบบเป๊ะ ๆ สิ่งที่เกิด คือลมที่ส่งออกมาจะไม่เกิดการตีย้อนกลับ เพราะไม่เหลือช่องว่างให้ย้อนกลับ นี่คือการส่งลมที่เต็มประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ประเด็นอยู่ที่ 'ใบพัด' ถ้าผลิตแบบ Mass ในระบบโรงงานมันจะเกิดความคลาดเคลื่อนเสมอ อาจเล็กบ้างใหญ่บ้างตามกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติ
ประเด็นต่อมาคือ ถ้าใบพัดเล็กมันจะเกิด 'ช่องว่าง' ที่ทำให้ลมตีย้อนกลับ.. หรือถ้าใหญ่ไป ก็จะใส่ท่อไม่ได้..
นี่คือข้อจำกัดที่เกิดจากกระบวนการผลิต ที่นักออกแบบ, บริษัท, หรือโรงงานต่างก้มหน้ายอมรับ แต่ข้อจำกัดนี้ใช้ไม่ได้กับชายที่ชื่อว่า Dyson ..
วิธีการเดียวที่จะสร้างใบพัดที่ Fit In แบบ (± 0) ได้คือการ CNC (Computer Numerical Control)
ในวิธีการผลิตแบบ Mass จะใช้วิธีฉีดพลาสติกลงแม่พิมพ์ ซึ่งแน่นอนว่ามันได้ในเรื่องของจำนวน แต่การ CNC นั้น ใช้วิธีการแบบ 'แกะสลัก' ซึ่งแน่นอนว่ามันได้ในเรื่องของความเป๊ะ แต่มันผลิตแบบ Mass ไม่ได้.. เพราะมันต้องแกะสลักแบบ 'ชิ้นต่อชิ้น' เรียกได้ว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาล ทั้งในเรื่องของเวลาทั้งในเรื่องของเงินทุน หรือพูดแบบบ้าน ๆ คือคนปรกติเขาไม่ทำ CNC ในโปรดักส์แบบ Mass กันหรอก และแน่นอนว่า Dyson ไม่ใช่คนปรกติ(ชม) !! ในท้ายที่สุดเขาและทีมก็คิดค้นหาวิธีทำ CNC ให้ Mass จนได้ !! (ซึ่งเราไม่ขอลงรายละเอียดในตอนนี้)
นี่คือตัวอย่างเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไดร์เป่าผมของ Dyson 'ดีเยี่ยม' กว่าไดร์เป่าผมอื่น ๆ และหากมองให้ลึกลงไป นี่คือหลักฐานที่ชัดแจ้งที่สุดของประโยคที่ว่า
"พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด"
และนี่แหละคือเส้นบาง ๆ ที่ยากจะข้ามผ่านที่เราพูดถึง นี่คือขั้นตอนสำคัญที่จะนำพา Product ที่ดีไปสู่คำว่า Product ที่ 'ดีเยี่ยม' ก็ด้วยขั้นตอนนี้แหละ !!
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม Dyson ถึงล้มเหลวถึง 5,126 ครั้ง !! อันที่จริงเขาอาจทำเครื่องดูดฝุ่นระบบ Cyclone สำเร็จตั้งแต่ครั้งที่พันกว่า ๆ แล้วก็เป็นได้ เพียงแต่ถ้ามันยังไม่สุด ถ้ามันยัง Develop ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก Dyson จะไม่ยอมปล่อยผ่านโดยเด็ดขาด !!
ประโยคจากหนังเรื่อง Whiplash ที่ครูสอนดนตรีหัวรุนแรงคนหนึ่ง เขวี้ยงฉาบเหล็กใส่หน้าลูกศิษย์เพียงเพื่อจะ 'กระตุ้น' ให้เขาตีกลองได้ดีขึ้น !! ได้กล่าวไว้ (ดีที่ลูกศิษย์ซึ่งก็คือพระเอกหลบทัน ไม่งั้นหนังคงจบตั้งแต่ต้นเรื่อง)
แน่นอนว่า 'ทำดีแล้ว' คำนี้อาจดีต่อใจในวันที่เรากำลังต้องการกำลังใจ ในวันที่เราต้องการหยุดพัก หรือหมดแรงจะไปต่อ ซึ่งใช้ได้ไม่ผิด แต่มันอันตรายอย่างถึงที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการทลายขีดจำกัดบางอย่าง !! การจะไปให้ถึงคำว่านวัตกรรม Innovation หรือ 'ดีขึ้นอย่างชัดเจน' นั้นจะไม่มีการประนีประนอมโดยเด็ดขาด
ซึ่งถามว่า แล้วมันจำเป็นไหมที่ต้องเครียด, ต้องกดดัน, หรือต้องบีบคั้นขนาดนั้นเลยเหรอ ? ตอบเลยว่า "ไม่จำเป็น" และมัน "เป็นคนละเรื่องเดียวกัน"
7. Production & Testing
Production & Testing คือ 'ขั้นตอนสุดท้าย' ที่จะว่าด้วยเรื่องของการผลิต, ประกอบ, ลองแพ็คลงกล่อง ก่อน 'ทดสอบ' ด้วยการโยนลงมาจากที่สูง !!
โดยปรกติความสูงในการ Test จะอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ตามพฤติกรรมการขนส่งของพนักงาน ที่อาจต้องมีการโยนขนส่งสินค้าขึ้นรถบ้าง นี่คือขั้นตอนสุดท้ายที่จะ Make Sure ว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่มีอะไรผิดพลาดเมื่อถึงมือลูกค้า ซึ่งนอกจากจะ Test ความแข็งแกร่ง, อึด, ถึก, และทน ด้วยวิธีการ Extreme แบบต่าง ๆ แล้ว ยังทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานอย่างเข้มข้นไม่แพ้กันด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=tzkgkAdvEnk
ดังตัวอย่างคลิป(ช่วงนาทีที่ 18) ที่มีการ Test เครื่องดูดฝุ่น โดยให้ดูดพรมที่วางไว้บนแป้นหมุน ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนพรมหลากชนิด เพื่อทดสอบการทำงานให้ครอบคลุมทุกพื้นผิว ซึ่ง Dyson กล่าวว่า ขั้นตอนนี้ไม่ยากนะแต่หัวจะปวด.. เพราะถ้า Test แล้วมันไม่เวิร์คตรงไหนก็ต้องแก้วนไปจนกว่ามันจะเวิร์ค !!
บทส่งท้าย
หลังจากที่ DC-001 ขายได้อย่างถล่มทลาย ทุกคนในบริษัทรวมถึงทุกคนในครอบครัวต่างดีใจ และพึงพอใจกับมันอย่างถึงที่สุด ยกเว้น Dyson เพียงผู้เดียวที่มองว่าความสำเร็จและการพึงพอใจกับ DC-001 นี้ คือความอันตราย.. เพราะถ้าให้เทียบกัน มันคงเหมือนกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ Hoover ในครั้งที่ทำเครื่องดูดฝุ่นแบบใช้ถุงผ้าเครื่องแรกของโลกสำเร็จเมื่อปี 1903
ความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งดี แต่การยึดติดในความสำเร็จหรือคำตอบที่คิดว่าดีที่สุดนี่สิ ‘น่ากลัว’
เพราะสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้ 100 ปีหลังจากนั้น เครื่องดูดฝุ่นก็แทบไม่พัฒนาขึ้นอีกเลย ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย ถ้าไม่เพียงแต่ Dyson ได้รับนักศึกษาจบใหม่คนหนึ่ง เข้ามาในทีม R&D เพื่อสร้างสรรค์ DC-002
โดยมีโจทย์ที่ว่า เราจะทำยังไงให้เครื่องดูดฝุ่นไร้ถุงผ้านี้ ‘เล็กที่สุด’ เท่าที่จะเป็นไปได้
สิ่งที่น่าสนใจกว่าการรับเด็กจบใหม่ที่ไร้ประสบการณ์เข้าทำงาน ในบริษัทที่ถือได้ว่าเป็น ‘Unicorn’ ในสมัยนั้น คือการที่ Dyson ยืนยันที่จะทำโปรเจคที่ว่านี้กับเด็กจบใหม่ เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น !! แน่นอนว่าสิ่งที่ Dyson ต้องการ เพื่อการเริ่มต้นค้นหาคำตอบใหม่ที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง คือความไม่กลัวที่จะผิด !! เพราะมันผิดแน่ ๆ (ใครจะรู้คำตอบที่ถูกต้องของสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน) และไม่ต้องกลัวเลยที่จะได้คำตอบโง่ ๆ ออกมา เพราะมันโง่แน่นอน
แต่นี่คือหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ Dyson ไม่เดินซ้ำรอย Hoover สิ่งหนึ่งที่เขาจะไม่ยอมสูญเสียไปโดยเด็ดขาดคือ ‘ความกล้าที่จะล้มเหลว’ และเรียนรู้
ล้มเหลวและเรียนรู้ นี่แหละคือสุดยอดอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดของเขา !! เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรา ‘สูญเสียความกล้า’ ที่จะผิดพลาดและล้มเหลว นั่นหมายถึงเราได้สูญเสียโอกาสที่จะเรียนรู้และดีขึ้น ด้วยเช่นกัน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ Dyson ให้โอกาสเด็กจบใหม่ที่ไร้ประสบการณ์เข้าทำงานใน Project นี้ เราเชื่อว่านี่คือการ ‘ส่งต่อ’ โอกาสที่เขาเคยได้รับมาเหมือนในวันที่ Dyson ได้รับโอกาสให้เข้าร่วม Project ออกแบบเรือบรรทุก Rotock Sea Truck จาก Tim Fry ในวันที่เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้คือประสบการณ์อันล้ำค่า ที่ทำให้เด็กหนุ่มที่ชื่อว่า James Dyson กลายเป็น Dyson ผู้ยิ่งใหญ่ได้เหมือนในทุกวันนี้
บทสรุป "Dyson Design Process 7 Step
7 ขั้นตอนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สไตล์ Dyson"
และทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้ง 7 ขั้นตอน ในแบบฉบับของ Dyson ที่มีใจความสำคัญในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
Brief ให้เคลียร์ชัดและซัดให้ตรงจุด
Research ข้อมูลเฉพาะ คือกุญแจสำคัญ
Idea Development การหาคำตอบด้วย Design
Specification จิ๊กซอว์ของผลิตภัณฑ์และราคา
Chosen Idea การตัดสินใจ ไปต่อหรือพอแค่นี้
Product Development พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด
Production & Testing ทดสอบซ้ำกันผิดพลาด
นี่คือขั้นบันไดทั้ง 7 ขั้นสำหรับผู้ที่ต้องการนวัตกรรม Innovation หรือความ 'ดีขึ้นอย่างชัดเจน' เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า สิ่งนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในแวดวงเทคโนโลยี หรือการออกแบบเพียงเท่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่า
"กิ่งก้านใบของนวัตกรรมนั้น ล้วนมาจากรากเดียวกัน"
ซึ่งเราขอพิสูจน์และท้าทายความเชื่อที่ว่านี้โดยการ Translate ขั้นบันไดทั้ง 7 ของ Dyson ว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ แนวความคิดนี้ยังปรับใช้ได้จริงอยู่ไหม ?
ติดตามความท้าทายนี้ได้ในบทความครั้งต่อไป ในภาคเสริมของ Dyson Design Process 7 Step x 'เทพเจ้าแห่งซูชิ'
ทางเพจ Class A Solution
หรือ https://www.class-a-solution.com/blog
และสุดท้ายนี้ หากคุณอยากเปลี่ยนให้องค์กรของคุณเต็มไปด้วยนวัตกรรม จงหยุดหัวเราะให้ความล้มเหลว จงเริ่มฟังคำตอบที่ดูไม่ฉลาด และจงเปิดโอกาสให้คนที่มีไฟ ที่พร้อมจะเรียนรู้จากความล้มเหลวแบบไม่มีที่สิ้นสุด หรือทักมาคุยกับเรา Class A Solution ที่พร้อมจะให้คำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Product Design ด้วยประสบการณ์การออกแบบให้ลูกค้าทั้งไทย และต่างประเทศมากว่า 15 ปีพร้อมทีมพัฒนาที่จะช่วยต่อยอด Idea ของคุณให้ไม่หยุดอยู่แค่ในกระดาษ เพื่อให้ Idea นั้นถูกพัฒนาผลิตและวางขายสู่ตลาดจริงได้อย่างมั่นใจ
ที่มา : http://dysonservicecentre.com/
เรียบเรียง : Mairilyn
ข้อมูล & เนื้อหา : PK