Naoto Fukasawa กับ Design​ "Without Thought" การออกแบบโดยปราศจาก​ความคิด​

คงไม่เกินเลยไปนัก​หากเราจะกล่าวว่า​ "ความคิด​" คือสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิต​ และคุณค่าของคนคนหนึ่ง​

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง​ในโลกของ​นักออกแบบยิ่งต้องเค้นพลังสมอง คิด​งาน​ เพื่อตอบ​โจทย์​ของลูกค้า​​และผู้คน​ให้ได้แต่จะ​เป็นยังไง ถ้าจู่ ๆ มี Designer คนหนึ่ง​เดินมาบอกกับเราว่า​เวลาออกแบบ​ไม่ควรใช้​และเชื่อ "ความคิด" !?

วันนี้​ Class A Solution ขอเชิญ​คุณร่วมสำรวจแง่มุมปรัชญา​การออกแบบที่ลึกซึ้ง​ ​แต่เรียบง่าย​ ด้วยภาษาง่ายๆแบบไม่ต้องปีนกระไดอ่านของ Naoto Fukasawa เจ้าของปรัชญาการออกแบบ

Design​ “Without Thought”
การออกแบบโดยปราศจาก​ความคิด​
— Naoto Fukasawa

นักออกแบบ​คนสำคัญ​ ผู้มีส่วนร่วมใน​ความสำเร็จของแบรนด์ดังอย่าง​ MUJI

.

ถ้านักออกแบบไม่ควรใช้​ "ความคิด" แล้วการออกแบบ​ต้องใช้อะไรกันล่ะ?

ขอเชิญทุกท่านร่วมหาคำตอบ​ได้​ ณ​ บัด​ Now!!

naoto fukasawa

Naoto Fukasawa​ เกิดเมื่อปี 1956 จบจากมหาวิทยาลัย Tama Art University คณะออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาศิลปะและการออกแบบ ในปี 1980 เริ่มทำงานครั้งแรกที่ Seiko-Epson ในตำแหน่ง Product Developer​ ก่อนที่จะเดินทางไปอยู่อเมริกาในปี​ 1989

การเดินทาง​ไปยังอเมริกา​คือ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญ

เมื่อ​เค้าได้เข้าทำงาน​ใน​ ID Two บริษัท Design Consult ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท​ IDEO​ ยักษ์ใหญ่​ ที่กลายมาเป็นตำนาน​แห่ง Design​ and​ Consultancy Firm ในอเมริกา​

Design​ หรือ​การออกแบบ​โดย​แก่นแท้​ คือ "การแก้ปัญหา" และความ​สวยงามเป็นเพียงปัญหาหนึ่ง..

เปรียบให้ง่าย ถ้าเราซื้อสินค้า​หรือบริการ​อะไรก็ตาม แล้วมันไม่เวิร์ค​ ไม่ตอบโจทย์ สวยนะ​ แต่แก้ปัญหาอะไรให้เราไม่ได้ ใช้งานไม่ดี..


เรา​จะซื้อมันไปเพื่อ!!?

ดังนั้น​​ สารตั้งต้น​ที่สำคัญที่สุด​ของกระบวนการออกแบบ​ คือ​ต้องเข้าใจปัญหา​ของ​ User อย่างถ่องแท้​ให้จงได้ นี่จึงเป็นที่มาของ "Design​ Thinking Process" ที่ IDEO นำมาใช้ในกระบวนการออกแบบเป็นบริษัทแรก ๆ ในโลกเลย Process สำคัญที่จะทำให้นักออกแบบได้รับรู้ถึง​หัวจิต​หัวใจ​ ความต้องการ​ที่​แท้จริง​ของ​ User​ ด้วยวิธีการ ​"ลงพื้นที่" เข้าไปพูดคุย​กับ​ User เพื่อที่จะได้รับรู้ถึง​ปัญหา​จริง ๆ จะได้ไม่ต้อง​มโนขึ้นมาเอง

Naoto Fukasawa​ ได้รับ​ DNA นี้จาก​ IDEO​ มาเต็ม ๆ ผนวกกับ​ในช่วงชีวิตหนึ่ง​ที่เค้าได้ใช้ชีวิตใน​ California ที่นั่น เค้าได้เห็น​หลายสิ่งหลายอย่างที่ต่างจาก "ญี่ปุ่น" แน่นอนว่า​เราไม่ได้พูดถึง​ Hotel​ California​ เพลงดังของวง Eagle แต่อย่างใด.. แต่เรากำลังพูดถึง​ชีวิตความเป็นอยู่​ของผู้คนในบริเวณท่าเรือ San Francisco ภาพผู้คนที่หนีบ​แตะใส่เสื้อยืด​ นุ่งกางเกงขาสั้น​ และ​ธรรมชาติ ความเรียบง่าย​ และ​ความสุข คือสิ่งที่ Naoto Fukasawa​ 'เห็น'​ ก่อนตกผลึกเกิดเป็น​ปรัชญา​การออกแบบที่ลึกซึ้ง​ในภายหลัง

thoughtless act book

ทำไมต้อง “Design​ Without Thought" ?

การออกแบบโดยปราศจาก​ความคิด​ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น​ สารตั้งต้นแรกที่สำคัญที่สุด​ในกระบวนการออกแบบคือ​ การเข้าใจปัญหาด้วยการลงพื้นที่​พูดคุยกับ​ User ซึ่งก็ฟังดูเมคเซ้นส์ดี แต่ประเด็นก็คือ​ สิ่งที่ User​ สื่อสาร​หรือตอบออกมา​ "ความคิด​เห็น​เหล่านั้น​ เชื่อได้จริงๆหรือ?" ความจริงก็คือ​ บางครั้ง​แม้แต่ตัวของเราเอง​ก็ยังไม่เข้าใจ​ "ความคิด" ปัญหา​ของตัวเองเหมือนกัน..

สิ่งที่ Naoto เห็นจากประสบการณ์คือ "ความคิด​หลอกเราได้​ แต่​การกระทำ​และ​​พฤติกรรมไม่มีวันหลอก" เพราะ​การกระทำ​และ​พฤติกรรมของคน คือตัวสะท้อนความจริงแท้​ที่อยู่ภายใต้​จิตใต้สำนึก


ยกตัวอย่างหากคุณเดินไปถามใครสักคนว่า "ถ้านาฬิกาทำจากโลหะเรือนนี้ราคา 100 บาทคุณจะซื้อหรือไม่" (คนทำ Survey มักชอบถามคำถามนี้) คนคนนั้นตอบว่า "ซื้อๆๆๆ แหม๋ นาฬิกาทำจากโลหะ 100 เดียวเอง" จากนั้นคุณยื่นเงินให้คนคนนั้น 100 บาทหลังจากถามเสร็จ คุณคิดว่าคนคนนั้นจะซื้อนาฬิกาโลหะ ที่คุณเสนอหรือไม่...

คำตอบคือ ไม่แน่!!! การกระทำที่เกิดขึ้นจริง คนคนนั้นอาจจะนำเงิน 100 บาทแล้วเดินจากไปทันที โดยไม่คิดจะซื้อนาฬิกาที่ทำจากโลหะเรือนนั้นเลยก็ได้

ความคิด​ VS จิตใต้สำนึก​

สมมุติว่า​ในจิตใต้สำนึก​ เรากลัวกบ ถามว่า​ ถ้าเราพยายามพิจารณาใช้​ความคิด​ว่าเราไม่กลัวกบ.. เรา​จะหายกลัวไหม?

แน่นอนว่า​ Winner is จิตใต้สำนึก​​!!

ด้วยเหตุนี้​เอง​ที่ทำให้ Naoto Fukasawa​ เชื่อมั่น​ใน Design​ "Without Thought" การออกแบบโดยปราศจาก​ความคิด​โดยมุ่งเน้นไปที่​การสังเกต ค้นหา​คำใบ้ของปัญหา​ที่แท้จริง​จาก User ผ่าน​การกระทำ​ และธรรมชาติของ​ "พฤติกรรม" เท่านั้น เพราะ​ถ้า​ผลิตภัณฑ์มัน​จำเป็น​ และ​เป็นที่ต้องการจริง คนจะใช้มัน​โดยที่เขา​ "ไม่ได้คิดอะไรเลย" Naoto Fukasawa​ เคยกล่าวไว้

thoughtless act

Design​ Error

*หมายเหตุ : ตัวอย่างที่ Class A Solution ยกมาเล่าในส่วนนี้ไม่ได้มาจาก Naoto แต่เป็นตัวอย่างที่เรายกขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับบริบทคนไทยมากขึ้น

ธรรมชาติ​ของ​ "พฤติกรรม" (จิตใต้สำนึก)​

แทบทุกครั้งที่งานออกแบบเกิด​ Error

Naoto Fukasawa​ มักอธิบายว่าเป็น​เพราะ​นักออกแบบ​ไม่เข้าใจ​ธรรมชาติ​ของ "พฤติกรรม" มนุษย์​นี่แหละ


"เคยโดนแม่ด่า​ที่ใช้​นิ้วเท้า​เปิด​พัดลมกันไหม?" ถ้าใครที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันนี้​เราอยากจะบอกกับคุณว่า​ "คุณไม่ผิดนะ" !! ด้วยพัดลมตั้งพื้น​แบบไม่สูงส่วนใหญ่​ สวิตช์เปิดมักจะอยู่ตรงฐาน​ ติดกับพื้น​ การจะก้มลงบรรจงเอานิ้วมือเปิด​ มันฝืน​พฤติกรรม​ตามธรรมชาติมาก ลองคิดดูว่า​ คุณกลับมาจากข้างนอกร้อน ๆ​ เดินมาจะเปิดพัดลม​ เท่านั้นแหละ​ "Without Thought" ปราศจากความคิด..

ใครล่ะมันจะอดใจไหว!!

อีกสิ่งหนึ่งที่​ Designer​ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมาก ในงานออกแบบ​คือ​ ความ​​ "กลมกลืน" แต่​ Naoto Fukasawa​ ต้องการมากกว่านั้นสำหรับเขา​ความ​กลมกลืน​ยังไม่ดีพอ เขาต้องการให้งานออกแบบของเขา​ ผลิตภัณฑ์ของเขา​ หลอมละลาย​เป็นเนื้อเดียวกัน​กับ​พฤติกรรม​ และ​วิถีชีวิตของผู้คนให้เสมือนกับ​ คนสายตาสั้น​ ที่แว่นตาได้ "หลอมละลาย" เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างไม่รู้ตัว

muji wall-mounted CD player

MUJI . Wall-Mounted CD Player

เครื่องเล่นดูด​อากาศ​ หรือ​พัดลม​ดูด​ CD​!?

"รู้ไหมครับว่า​ พัดลมดูดอากาศ​มีมาตั้งแต่สมัยไหน?" นี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน..รู้แค่เพียงว่า​มันน่าจะนานพอ​ที่จะทำให้เราแค่ได้เห็นเครื่องเล่น​ CD​ นี้​ ก็รู้ได้เลยว่ามันใช้งานยังไง นี่แหละ​คือความ​เจ๋ง​ของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ที่​ Naoto Fukasawa​ ได้บรรจง​ "หลอมละลาย" ทั้งประสบการณ์​ พฤติกรรม​ และ​ Function การใช้งานทั้งหมดนี้​ถูกบรรจุไว้​ภายใต้​รูปทรง​สี่เหลี่ยม​ขอบมน​มีวงกลมตรงกลาง​ และมีสายห้อย​ เท่านั้นเอง

บทพิสูจน์ปรัชญาของ Naoto คือ เมื่อมนุษย์เห็นเจ้าเครื่องเล่น CD แล้วสามารถรับรู้ถึงการใช้งานของมันได้ทันทีโดยไม่ต้องคิด (without thought) เพราะความคุ้นเคยที่ถูกยกมาวางให้ในการออกแบบนี้ เพียงดึงเชือกแล้ว แผ่นกลมๆก็หมุน อาจจะรู้สึกได้ถึงลมที่เป่าออกมาเล็กน้อย แล้วบรรยากาศเก่าๆก็หวนกลับคืนมา บนผลิตภัณฑ์ใหม่

โคตร Minimal..

และนี่คือผลงานชิ้นแรก​ที่ทำให้​
Naoto Fukasawa​ ได้ร่วมงานกับ​ MUJI​ อีกด้วย

cotto oval collection

นักออกแบบผู้​ "สเก็ตช์งานบน​อากาศ"

Cotto​ อ่างล้างหน้า​ Oval

สำหรับจอมยุทธ์​ "กระบี่อยู่ที่ใจ" หากเยี่ยมยุทธแล้วไซร้​ แค่กิ่งไผ่​ก็ไร้เทียมทานนี่คือสิ่งที่​ "โกวเล้ง" ปรมาจารย์แห่งนิยายกำลังภายใน​ เคยเขียนไว้

แล้วนักออกแบบ​ที่ "สเก็ตช์​งานบนอากาศ" ไม่ต้องมีแม้ดินสอ​ หรือกระดาษ​ เราจะเรียกว่ายังไงดี?! นี่คืองานที่​ Naoto Fukasawa​ ได้ออกแบบให้กับ Cotto แบรนด์สุขภัณฑ์​ชื่อดังของไทย​ Form​ แบบไหนกันนะ​ ที่จะตอบสนองต่อ​พฤติกรรม​การใช้อ่างล้างหน้า​ได้ดีที่สุด? นี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญที่อยู่ในใจ​ของ​ Naoto Fukasawa​ ก่อนที่เค้าจะ​เริ่มสเก็ตช์งาน โดยการวาดมือทั้งสอง​ลงบนอากาศไปมา​ เพื่อหา​ Form​ ที่ตอบสนองต่อ​พฤติกรรม​ และ Ergonomic​ สำหรับ​การใช้งาน​อ่างล้างหน้า จนได้ Shape Oval วงรีๆ ที่ขนาดกำลังพอดีกับจังหวะการเอื้อมมือหมุนในอ่าง เหมือนจอมยุทธ์ฝึกวิชาลมปราณในตุ่มกลมๆ ที่ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน ตอบสนองการใช้งานชีวิตประจำวัน พร้อมกับ form ที่กลมกลืนไปกับทุกการแต่งห้อง เรียกว่าอยู่กับใครก็สวยได้ อยู่คนเดียวยิ่งสง่าเป็นที่สุด

juicepeel packaging

Naoto Fukasawa​
JUICEPEEL Packaging

สตอเบอรี่​ กีวี่​ และ​ Banana

ภาพที่เห็นกันชินตา​เวลาเห็นน้ำผลไม้​ซัก​ "กล่อง" หนึ่ง ภาพผลไม้สวยสด​พร้อมตัวอักษรบอกชนิดของผลไม้ ตัวเลข​ หรือ​ข้อความอะไรสักอย่าง​ ที่ช่วยยืนยันสรรพคุณของสินค้า​ และ​ตบท้ายด้วยโลโก้​แบรนด์

นี่แค่ด้านหน้ากล่องนะ​ ยังไม่รวมด้านข้าง​ และ​ด้านบนที่อุดมไปด้วย​ข้อมูล​ และ Text​ อีกมากมาย​

เหนื่อยเหมือนกัน​นะ​ เป็น​กล่องน้ำผลไม้เนี่ย..

ด้วยเหตุนี้​ Naoto Fukasawa​ จึงต้องการนำเสนอ อะไรที่มันเรียบง่าย​ แต่รู้สึก​ยิ่งกว่ากล่องน้ำผลไม้​ซักกล่องหนึ่ง​ที่แค่ "เห็น" ก็รับรู้​ได้ทุกอย่าง​ที่กล่องน้ำผลไม้ปรกติ​ต้องการจะสื่อสาร​ได้เลย Packaging นี้ได้รับรางวัล​ และ​คำชื่นชมมากมายในแง่ของ​คอนเซ็ปท์ แม้ในการ​ผลิต​จริง​ยังไปไม่ถึง

Naoto Fukasawa​ เล่าให้ฟังว่า​โปรเจคต์​นี้​ เขาได้จ้าง​โมเดลเลอร์ให้ทำโมเดล​กล่อง​ออกมาหลายชนิด​ แต่มันไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่​ สุดท้ายจึงได้มาแค่​สตอเบอรี่​ กีวี่​ และ​กล้วยซึ่งด้วยความโด่งดังของงานชิ้นนี้​ ทำให้ผู้คนนำไปพูดติดตลกกันว่า​ นี่คือกล่องน้ำผลไม้ "BanaNA O TO​"

plus minus zero

กระบวนท่าหนึ่ง​ที่​ Naoto Fukasawa​ มักจะใช้ในผลงานการออกแบบ คือ​การ​รักษา​ Function การใช้งานที่เรียบง่ายแบบเดิม ในขณะที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในภาพผลงานการออกแบบ​ ​ดัง​ต่อไปนี้

±0 (Plus Minus Zero)

คือ บริษัทออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน​ และของใช้ในบ้านที่​ Naoto Fukasawa​ เป็นผู้ก่อตั้ง โดยเน้นไปที่การนำเสนอความลงตัวแบบ “Just Right” ทรงที่พอดี ขนาดที่พอดี และราคาที่พอดี เลยเป็นที่มาของโลโก้ ±0 ซึ่งเป็นการบอกค่า Tolerance (ความคลาดเคลื่อน)ในงานผลิต

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเห็น 10mm ±2 บนงานเขียนแบบความยาวของน๊อตชิ้นนึง แปลว่า น๊อตชิ้นนั้นสามารถผลิตมาให้มีความความยาว 8mm หรือ 12mm ก็ได้ คนออกแบบได้คิดเผื่อไว้แล้วว่าการผลิตจะมีความคลาดเคลื่อน 2mm ชิ้นงานที่จะใส่ น๊อตตัวนั้นลงไปก็จะรองรับความคลาดเคลื่อนของความยาวน๊อตตัวนั้นได้ทั้งหมด ดังนั้นใน ±0 ของ Naoto คือที่สุดแห่งการผลิต คือทำพอดี ไม่ขาดไม่เกิน ไม่ต้องเผื่อ เราจะได้ชิ้นงานที่ลงตัวและสมบูรณ์ที่สุด

ร่ม​ x ที่แขวนถุง
±0 (Plus Minus Zero)

แค่ด้าม(ร่ม)​เว้า​ ชีวิตก็เปลี่ยน​เวลาฝนหยุดตก​ หุบร่ม​ ก็ไม่ต้องพะรุงพะรัง​หิ้ว​ถุงแล้ว มันมีแง่งมาให้แขวนถุงหิ้วพอดี

ถุง​ผ้า x รองเท้า
±0 (Plus Minus Zero)

เวลาหิ้วของหนัก ๆ​ ไม่ต้องลำบากมองหาที่​แขวน​วางได้เลย ที่ก้นมันทน หนา วางพื้นได้พอดี

หม้อหุงข้าว​ x​ ที่วางทัพพี
±0 (Plus Minus Zero)

คำถาม: ปกติคุณวางทัพพีตักข้าวไว้ที่ไหน? อุ้ยพอดีเลยวางข้างบนได้

เข้าไปดื่มด่ำกับความพอดีๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ที่ : https://www.plusminuszero.jp/about/en/

environment design

บทส่งท้าย​ แด่​นักออกแบบ

ภาพนี้คือภาพที่ Naoto Fukasawa​ มักจะหยิบยกขึ้นมาพูด​เกี่ยวกับแนวความคิด​ ปรัชญา​ การออกแบบของเค้าอยู่เสมอ

ภาพซ้าย​ คือ ภาพรถยนต์ที่ถูก​ตัดออก
ภาพขวา​ คือ ภาพของ​รถยนต์

เวลาที่นักออกแบบ​ได้รับ​โจทย์ให้ออก​แบบรถยนต์ นักออกแบบทั่วไป​ มักพุ่งเป้าไปที่​การจะทำยังไงก็ได้ให้​รถยนต์​ของฉัน​โดดเด่นที่สุด​ หรือเจ๋งที่สุด

ภาพขวาคือตัวแทน​แนวคิด​ที่พุ่งเป้า​เช่นนั้น ในขณะที่​ Naoto Fukasawa​ อยู่ฝั่งซ้าย ถ้าเค้าต้องออกแบบ​รถยนต์​ เขาจะไม่ออกแบบ​รถยนต์​ แต่เขาจะคำนึงถึง​ "บริบท" โดยรอบของมัน พฤติกรรมการใช้งาน​ ประสบการณ์​ สิ่งแวดล้อม​ และ​สิ่งอื่น ๆ​ ที่รายล้อมรอบ​รถยนต์​เพื่อที่จะได้รถยนต์​ที่​หลอมละลาย​ไปกับ​พฤติกรรมธรรมชาติ​ สิ่งแวดล้อม​ และ​วิถีชีวิต เป็นรถหรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างความกลมกลืนไปกับทุกสิ่งอย่างลงตัว จนกลายเป็นรถยนต์​ ที่เราจะใช้งานได้​โดย​ "ไม่ต้องคิดอะไรเลย"

ข้อมูลโดย Pongnut Krainichakul

เรียบเรียงโดย Mailylin

Previous
Previous

Karim Rashid ตำนานผู้ทำให้สีชมพูก็เท่ได้

Next
Next

Charles and Ray Eames นักออกแบบผู้สั่นสะเทือนวงการ Industrial Design